รอยเตอร์ - สหรัฐฯปฏิเสธการออกวีซาให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอิหร่าน 20 คน ซึ่งจะเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงบุคคลระดับรัฐมนตรี 2 ราย สำนักข่าวฟาร์สของอิหร่าน รายงานวานนี้(22)
ประธานาธิบดี มะห์มูด อาห์มาดิเนจัด แห่งอิหร่าน ซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2005 จะแถลงต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงว่าด้วยหลักนิติธรรมในวันจันทร์(24) และจะปราศรัยครั้งสุดท้ายในวันพุธ(26)
อย่างไรก็ดี ฟาร์ส รายงานว่า เจ้าหน้าที่ราว 20 คนจากคณะผู้แทนทั้งหมด 160 คนของอิหร่าน ถูกรัฐบาลสหรัฐฯปฏิเสธไม่ออกวีซาให้
แม้สื่ออิหร่านจะมิได้ระบุสาเหตุที่ชัดเจน แต่เป็นที่ทราบกันว่า เจ้าหน้าที่อิหร่านหลายรายมีชื่ออยู่ในบัญชีคว่ำบาตรของสหรัฐฯว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน
ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้
ฟาร์ส มิได้เอ่ยนามรัฐมนตรี 2 คนที่ถูกปฏิเสธวีซา โดยรายงานเพียงว่า อาห์มาดิเนจัด จะเดินทางไปประชุมที่สหรัฐฯพร้อมกับเสนาธิการ เอสฟันดิอาร์ ราฮิม มาไช และรัฐมนตรีต่างประเทศ อาลี อักบาร์ ซาเลฮี
สำหรับเจ้าหน้าที่ 2 รายของ อาห์มาดิเนจัด ที่ ฟาร์ส รายงานว่าถูกแบนมิให้เดินทางไปนิวยอร์ก ได้แก่ โมฮัมหมัด ไชคาน ซึ่งดูแลกิจการด้านการสื่อสารและข้อมูล และ โมฮัมหมัด จาฟาร์ เบห์ดัด ซึ่งดูแลงานการเมือง
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯคนหนึ่งให้สัมภาษณ์โดยไม่เปิดเผยชื่อว่า “วีซาสำหรับเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่จะเดินทางมาร่วมประชุมที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็น จะต้องผ่านการพิจารณาตามกฎหมายและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายของสหรัฐฯและข้อตกลงแห่งสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลวีซาถือว่าเป็นความลับ”
ในฐานะประเทศเจ้าบ้านยูเอ็น สหรัฐฯมีนโยบายออกวีซาให้กับคณะผู้แทนจากทุกประเทศ โดยไม่คำนึงถึงข้อพิพาทใดๆ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำกับองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 1947 อย่างไรก็ดี มีบางครั้งที่วอชิงตันไม่ออกวีซาแก่เจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญของอิหร่าน ซึ่งสหรัฐฯไม่มีสัมพันธ์ทางการทูตด้วยมาตั้งแต่ปี 1979
สหรัฐฯเชื่อว่าอิหร่านมีแผนลักลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่เตหะรานยังยืนกรานปฏิเสธ