(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Perfect storm over Libya
By Victor Kotsev
13/09/2012
วาระความต้องการอันทรงพลังของกลุ่มต่างๆ หลายหลาก ได้มาบรรจบกันอย่างไม่คาดหมายภายใต้สถานการณ์ที่แสนจะตึงเครียด จนทำให้เกิดเหตุการณ์โจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเบงกาซี กระทั่งตัวเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำลิเบียเสียชีวิต และไม่ว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯจะพูดจาแถลงไปอย่างไรก็ตามที การโจมตีคราวนี้น่าที่จะส่งผลสะท้อนกลับอย่างรุนแรงต่อนโยบายของสหรัฐฯในลิเบียและในตะวันออกกลาง อีกทั้งกำลังปรับเปลี่ยนสิ่งซึ่งกำลังอภิปรายถกเถียงกันอยู่ในทำเนียบขาว
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
เหตุการณ์รุนแรงชวนตื่นตะลึงซึ่งบังเกิดขึ้นในลิเบียเมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน 2012 โดยที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่การทูตคนอื่นๆ อีก 3 คน ถูกสังหารเสียชีวิตที่สถานกงสุลอเมริกันในเมืองเบงกาซี ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างอันดีของการที่ปัจจัยหลายอย่างหลายประการ ซึ่งแต่ละอย่างอาจจะดูไม่รุนแรงอะไรนักในตัวของมันเอง ได้มารวมตัวกันในจังหวะพอเหมาะพอดีจนกระทั่งกลายเป็นมหาพายุที่สร้างมหาวิบัติ วาระความต้องการของกลุ่มที่แตกต่างกันหลายหลากแต่มีพลัง ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับระหว่างประเทศ ได้มาบรรจบกันเหมาะเหม็งอย่างไม่คาดหมาย จนกระทั่งทำให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นมา และผลพวงต่อเนื่องอันน่าเศร้าของมันยังถูกขยายให้ใหญ่โตขึ้นไปโดยดูเหมือนจะเนื่องจากเรื่องของโชคเคราะห์ล้วนๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางก็กำลังร้อนแรงระอุไปด้วยความเขม็งเกลียวตึงเครียดอยู่แล้ว ปฏิกิริยาสะท้อนกลับต่อเหตุการณ์การสังหารเอกอัครราชทูตอเมริกันนี้ จึงอาจจะอยู่ในสภาพที่มากมายมหาศาลเกินเลยกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็น รวมทั้งยังอาจจะคาดหมายทำนายได้ยากอีกด้วย
รายงานข่าวชิ้นหนึ่งของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ บ่งบอกให้ทราบว่า ตัวเอกอัครราชทูตคริสโตเฟอร์ สตีเวนส์ (Christopher Stevens) ไม่ได้มีเหตุผลสมควรอะไรที่จะต้องอยู่ในสถานกงสุลแห่งนั้นเลย เมื่อตอนที่การโจมตีคราวนี้บังเกิดขึ้น ถ้าหากเราจะใช้ถ้อยคำของวุฒิสมาชิก จอห์น เคอร์รี (John
Kerry) ก็คงต้องบอกว่า เขาไปอยู่ตรงนั้น “ด้วยความบังเอิญพอดิบพอดี” (happenstance) ชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์อาจจะเพิ่งเดินซ้ำรอยตัวเอง – หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นอย่างที่ครั้งหนึ่ง มาร์ก ทเวน (Mark Twain) เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างคมคายว่า มันอาจจะได้จังหวะรับส่งเสียงสัมผัสกับเส้นทางเดินก่อนหน้านี้ของตัวเอง กาลเวลาผันผ่านไปได้ 11 ปีเต็มพอดิบพอดีทีเดียว หลังจากที่อัลกออิดะห์ประสบความสำเร็จในการทำลายอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซนเตอร์ในนครนิวยอร์กจนแหลกลาญ ซึ่งมีรายงานว่าแม้แต่กลุ่มนี้เองยังรู้สึกว่าทำได้เกินกว่าที่คาดหมายไว้มาก มาในครั้งนี้ อัลกออิดะห์ (หรือไม่ก็กลุ่มที่ได้แรงบันดาลใจจากอัลกออิดะห์) ก็ดูจะมีโชคใหญ่อีกครั้งครา
อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นที่จะต้องตั้งสติขบคิดพิจารณาอย่างรอบคอบระแวดระวังเอาไว้บ้างเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พวกหัวรุนแรงกลุ่มนี้ได้ข่าวกรองอันถูกต้องแม่นยำอย่างน่าประหลาดใจ เกี่ยวกับที่ตั้งของเซฟเฮาส์แห่งที่ตัวเอกอัครราชทูตสตีเวนส์รีบถูกนำตัวออกไปหลบภัย ภายหลังการปะทะที่สถานกงสุลเริ่มต้นขึ้น ขณะที่เห็นกันได้ชัดเจนว่าเรื่องโชคเคราะห์มีบทบาทอยู่ด้วยในเรื่องนี้ (ดังที่รายงานข่าวระบุว่าเอกอัครราชทูตสตีเวนส์เสียชีวิตเนื่องจากอาการหายใจไม่ออก) มันก็เป็นเรื่องลำบากที่จะบอกได้ว่าบทบาทดังกล่าวนี้มากน้อยใหญ่โตแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อต้องอิงอาศัยรายงานต่างๆ ที่ปรากฏออกมาในเบื้องต้น ซึ่งบ่อยครั้งมักจะมีความขัดแย้งกันเอง
ถึงแม้การโจมตีคราวนี้เริ่มต้นขึ้นมาภายใต้ม่านพรางของการประท้วงคัดค้านภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาต่อต้านอิสลามอย่างเลวร้ายน่ารังเกียจ และสร้างขึ้นมาโดยชายที่เรียกได้ว่าโนเนมไม่มีใครรู้จักมาก่อน ซึ่งได้พูดถึงตัวเองในระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อว่าเป็นคนอเมริกันเชื้อสายอิสราเอลที่มีอาชีพหลักเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ทั้งนี้นอกเหนือจากที่เบงกาซีแล้ว ในวันนั้นยังมีการประท้วงคัดค้านหนังเรื่องนี้ที่ลุกลามกลายเป็นการจลาจลเช่นกันทว่ามีขนาดเล็กกว่า เกิดขึ้นที่กรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์) แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าการโจมตีในลิเบียและทำให้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯเสียชีวิตนั้น กระทำกันในแบบฉบับของพวกมืออาชีพ
“นี่เป็นเหตุการณ์ที่มีการตระเตรียมในเรื่องอาวุธมาเป็นอย่างดี และมีการวางแผนประสานงานกันเป็นอย่างดี” ไมก์ รอเจอร์ส (Mike Rogers) ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรอง สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ เอ็มเอสเอ็นบีซี “มันมีทั้งการยิงประสานและการยิงตรง และมันก็มีการจัดกระบวนเคลื่อนที่แบบทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการโจมตีคราวนี้มีการจัดเตรียมวางแผนมาอย่างดีมาก”
ทางด้าน ควิลเลียม (Quilliam) หน่วยงานคลังสมองของอังกฤษ ก็รายงานว่า การจู่โจมคราวนี้กระทำกันเป็น 2 ระลอก และปฏิบัติการโดยพวกหัวรุนแรงประมาณ 20 คน ซึ่งลงมือเพื่อแก้แค้นให้แก่การตายของ อะบู ยาห์ยะ อัล-ลิบี (Abu Yahya al-Libi) ชาวลิเบียผู้มีฐานะเป็นผู้นำอันดับสองของอัลกออิดะห์ ที่ได้ถูกสังหารไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
“24 ชั่วโมงก่อนการโจมตีครั้งนี้ บุคคลผู้หนึ่งซึ่งก็มิใช่ใครอื่นเลยนอกจาก อัยมาน อัล-ซอวาฮิรี (Ayman al-Zawahiri) ผู้นำอัลกออิดะห์ ได้เผยแพร่วิดีโอที่มีเนื้อหาเป็นการแสดงความคิดเห็นแบบนักทำสงครามศาสนา เพื่อเป็นการรำลึกวันครบรอบปีของเหตุการณ์ 9 กันยายน” ควิลเลียม เขียนเอาไว้เช่นนี้ “ในวิดิโอดังกล่าวนี้ ซอวาฮิรีได้ยอมรับว่า อะบู ยาห์ยะ ผู้เป็นอันดับสองรองจากตัวเขา ได้ถูกสังหารเสียชีวิตไปแล้วจริง พร้อมกับเรียกร้องให้ชาวลิเบียทั้งหลายทำการแก้แค้นให้ อะบู ยาห์ยะ ด้วย”
ในส่วนของพวกเจ้าหน้าที่ลิเบีย ก็เสนอภาพในเวอร์ชั่นที่แตกต่างออกไป เป็นต้นว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย วานิส เอ-ชาริฟ (Wanis a-Sharif) บอกกับทางผู้สื่อข่าวว่า พวกผู้สนับสนุน มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตจอมเผด็จการของลิเบีย ซึ่งยังคงรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น คือพวกที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีคราวนี้ ขณะเดียวกัน เราย่อมยากที่จะหลีกหนีความเป็นจริงอันดูเหมือนจะแฝงฝังเสียงเย้ยเยาะของโชคชะตาเป็นนัยๆ เอาไว้ด้วย นั่นก็คือ เอกอัครราชทูตสตีเวนส์เสียชีวิตไปในลักษณะคล้ายๆ กับ จอมเผด็จการกัดดาฟี ผู้ซึ่งตัวเอกอัครราชทูตสตีเวนส์นั่นเองมีส่วนช่วยขับไล่โค่นล้ม แล้วต่อมาก็ถูกพวกกบฏกลุ้มรุมทำร้ายจนกระทั่งเสียชีวิตไปในปีที่แล้ว
คำอธิบายทั้งสองอย่างนี้ ไม่จำเป็นที่แต่ละอย่างจะต้องแยกออกเป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกันเลย อันที่จริงแล้วมีข่าวลือกันอยู่มากเหมือนกันว่า พวกซากเดนของระบอบกัดดาฟีกำลังพยายามหาทางเอาตัวพวกเขาเข้าไปผูกเป็นพันธมิตรกับอัลกออิดะห์ นอกจากนั้น ก่อนที่ ซาอิฟ อัล-อิสลาม (Saif al-Islam) จะถูกจับกุมตัวไม่นานนัก บุตรชายคนที่สองของจอมเผด็จการกัดดาฟีผู้นี้ ก็ได้ออกมาเรียกร้องหลายต่อหลายครั้งให้ทำสงครามญิฮัด ซึ่งเป็นคำเรียกร้องที่มีนัยชวนให้นึกถึงพวกหัวรุนแรงอย่างอัลกออิดะห์
กระนั้นก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า การวางแผนเดินหมากเดินเกมภายในประเทศลิเบียเอง อาจมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับเหตุการณ์คราวนี้ ทั้งนี้ในคืนวันพุธที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา สมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติของลิเบียได้เลือก มุสตาฟา อะบุ ชากูร์ (Mustafa Abu Shagur) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ผู้เป็นนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์ผูกพันกับขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างเป็นประชาธิปไตยคนแรกของลิเบีย การลงคะแนนเลือกครั้งนี้เป็นไปอย่างคู่คี่สูสี และถือเป็นการปราชัยอย่างพลิกล็อกหักมุมของ มาหมุด จิบริล (Mahmoud Jibril) ผู้ซึ่งสังกัดอยู่ในกลุ่มพันธมิตรสายกลาง ที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อเดือนกรกฎาคม มีนักวิเคราะห์บางคนคาดเดาว่า การโจมตีที่เบงกาซีอาจเกิดขึ้นด้วยความจงใจที่จะส่งอิทธิพลต่อการออกเสียงในสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติก็เป็นไปได้
แต่ไม่ว่าใครคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุโจมตีคราวนี้ก็ตามที เหตุการณ์นี้ก็บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่การเมืองของตะวันออกกลางกำลังเขม็งตึงเครียดใกล้ระเบิด อย่างชนิดยากที่จะหาช่วงเวลาอันระอุคุกรุ่นได้ยิ่งกว่านี้อีกแล้ว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งกำลังเร่งรณรงค์หาเสียงอย่างหนักเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำอเมริกันสมัยที่สองในอีกไม่ถึงสองเดือนข้างหน้า ต้องยุ่งเกี่ยวพัวพันกับสมรภูมิทางการทูตและทางการเมืองในตะวันออกกลางหลายต่อหลายแนวรบพร้อมๆ กัน เป็นต้นว่า เขาจะต้องแสวงหาทาง "เป็นผู้นำอยู่หลังฉาก” ในการขับไล่โค่นล้มประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย (อันเป็นสถานการณ์ที่มองอย่างกว้างๆ แล้วก็คล้ายๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในลิเบียเมื่อปีที่แล้ว) นอกจากนั้นโอบามายังต้องพยายามกดดันบังคับให้อิหร่านยุติโครงการนิวเคลียร์ของพวกเขา ขณะเดียวกัน เขายังต้องหาทางทำให้เหล่าพันธมิตรผู้กำลังรู้สึกฮึดฮัดขุ่นเคือง เป็นต้นว่า อิสราเอล ยินยอมสงบอกสงบใจ รวมทั้งโอบามาก็ต้องคอยปกป้องหลบหลีกการรณรงค์โจมตีผลงานด้านนโยบายการต่างประเทศของเขา จากภายในอเมริกาเอง โดยเฉพาะจากค่ายของ มิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นคู่แข่งขันคนสำคัญที่สุดของเขา
วิกเตอร์ คอตเซฟ เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์การเมือง ซึ่งตั้งฐานอยู่ในเทลอาวีฟ
Perfect storm over Libya
By Victor Kotsev
13/09/2012
วาระความต้องการอันทรงพลังของกลุ่มต่างๆ หลายหลาก ได้มาบรรจบกันอย่างไม่คาดหมายภายใต้สถานการณ์ที่แสนจะตึงเครียด จนทำให้เกิดเหตุการณ์โจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเบงกาซี กระทั่งตัวเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำลิเบียเสียชีวิต และไม่ว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯจะพูดจาแถลงไปอย่างไรก็ตามที การโจมตีคราวนี้น่าที่จะส่งผลสะท้อนกลับอย่างรุนแรงต่อนโยบายของสหรัฐฯในลิเบียและในตะวันออกกลาง อีกทั้งกำลังปรับเปลี่ยนสิ่งซึ่งกำลังอภิปรายถกเถียงกันอยู่ในทำเนียบขาว
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
เหตุการณ์รุนแรงชวนตื่นตะลึงซึ่งบังเกิดขึ้นในลิเบียเมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน 2012 โดยที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่การทูตคนอื่นๆ อีก 3 คน ถูกสังหารเสียชีวิตที่สถานกงสุลอเมริกันในเมืองเบงกาซี ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างอันดีของการที่ปัจจัยหลายอย่างหลายประการ ซึ่งแต่ละอย่างอาจจะดูไม่รุนแรงอะไรนักในตัวของมันเอง ได้มารวมตัวกันในจังหวะพอเหมาะพอดีจนกระทั่งกลายเป็นมหาพายุที่สร้างมหาวิบัติ วาระความต้องการของกลุ่มที่แตกต่างกันหลายหลากแต่มีพลัง ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับระหว่างประเทศ ได้มาบรรจบกันเหมาะเหม็งอย่างไม่คาดหมาย จนกระทั่งทำให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นมา และผลพวงต่อเนื่องอันน่าเศร้าของมันยังถูกขยายให้ใหญ่โตขึ้นไปโดยดูเหมือนจะเนื่องจากเรื่องของโชคเคราะห์ล้วนๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางก็กำลังร้อนแรงระอุไปด้วยความเขม็งเกลียวตึงเครียดอยู่แล้ว ปฏิกิริยาสะท้อนกลับต่อเหตุการณ์การสังหารเอกอัครราชทูตอเมริกันนี้ จึงอาจจะอยู่ในสภาพที่มากมายมหาศาลเกินเลยกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็น รวมทั้งยังอาจจะคาดหมายทำนายได้ยากอีกด้วย
รายงานข่าวชิ้นหนึ่งของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ บ่งบอกให้ทราบว่า ตัวเอกอัครราชทูตคริสโตเฟอร์ สตีเวนส์ (Christopher Stevens) ไม่ได้มีเหตุผลสมควรอะไรที่จะต้องอยู่ในสถานกงสุลแห่งนั้นเลย เมื่อตอนที่การโจมตีคราวนี้บังเกิดขึ้น ถ้าหากเราจะใช้ถ้อยคำของวุฒิสมาชิก จอห์น เคอร์รี (John
Kerry) ก็คงต้องบอกว่า เขาไปอยู่ตรงนั้น “ด้วยความบังเอิญพอดิบพอดี” (happenstance) ชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์อาจจะเพิ่งเดินซ้ำรอยตัวเอง – หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นอย่างที่ครั้งหนึ่ง มาร์ก ทเวน (Mark Twain) เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างคมคายว่า มันอาจจะได้จังหวะรับส่งเสียงสัมผัสกับเส้นทางเดินก่อนหน้านี้ของตัวเอง กาลเวลาผันผ่านไปได้ 11 ปีเต็มพอดิบพอดีทีเดียว หลังจากที่อัลกออิดะห์ประสบความสำเร็จในการทำลายอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซนเตอร์ในนครนิวยอร์กจนแหลกลาญ ซึ่งมีรายงานว่าแม้แต่กลุ่มนี้เองยังรู้สึกว่าทำได้เกินกว่าที่คาดหมายไว้มาก มาในครั้งนี้ อัลกออิดะห์ (หรือไม่ก็กลุ่มที่ได้แรงบันดาลใจจากอัลกออิดะห์) ก็ดูจะมีโชคใหญ่อีกครั้งครา
อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นที่จะต้องตั้งสติขบคิดพิจารณาอย่างรอบคอบระแวดระวังเอาไว้บ้างเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พวกหัวรุนแรงกลุ่มนี้ได้ข่าวกรองอันถูกต้องแม่นยำอย่างน่าประหลาดใจ เกี่ยวกับที่ตั้งของเซฟเฮาส์แห่งที่ตัวเอกอัครราชทูตสตีเวนส์รีบถูกนำตัวออกไปหลบภัย ภายหลังการปะทะที่สถานกงสุลเริ่มต้นขึ้น ขณะที่เห็นกันได้ชัดเจนว่าเรื่องโชคเคราะห์มีบทบาทอยู่ด้วยในเรื่องนี้ (ดังที่รายงานข่าวระบุว่าเอกอัครราชทูตสตีเวนส์เสียชีวิตเนื่องจากอาการหายใจไม่ออก) มันก็เป็นเรื่องลำบากที่จะบอกได้ว่าบทบาทดังกล่าวนี้มากน้อยใหญ่โตแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อต้องอิงอาศัยรายงานต่างๆ ที่ปรากฏออกมาในเบื้องต้น ซึ่งบ่อยครั้งมักจะมีความขัดแย้งกันเอง
ถึงแม้การโจมตีคราวนี้เริ่มต้นขึ้นมาภายใต้ม่านพรางของการประท้วงคัดค้านภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาต่อต้านอิสลามอย่างเลวร้ายน่ารังเกียจ และสร้างขึ้นมาโดยชายที่เรียกได้ว่าโนเนมไม่มีใครรู้จักมาก่อน ซึ่งได้พูดถึงตัวเองในระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อว่าเป็นคนอเมริกันเชื้อสายอิสราเอลที่มีอาชีพหลักเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ทั้งนี้นอกเหนือจากที่เบงกาซีแล้ว ในวันนั้นยังมีการประท้วงคัดค้านหนังเรื่องนี้ที่ลุกลามกลายเป็นการจลาจลเช่นกันทว่ามีขนาดเล็กกว่า เกิดขึ้นที่กรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์) แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าการโจมตีในลิเบียและทำให้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯเสียชีวิตนั้น กระทำกันในแบบฉบับของพวกมืออาชีพ
“นี่เป็นเหตุการณ์ที่มีการตระเตรียมในเรื่องอาวุธมาเป็นอย่างดี และมีการวางแผนประสานงานกันเป็นอย่างดี” ไมก์ รอเจอร์ส (Mike Rogers) ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรอง สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ เอ็มเอสเอ็นบีซี “มันมีทั้งการยิงประสานและการยิงตรง และมันก็มีการจัดกระบวนเคลื่อนที่แบบทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการโจมตีคราวนี้มีการจัดเตรียมวางแผนมาอย่างดีมาก”
ทางด้าน ควิลเลียม (Quilliam) หน่วยงานคลังสมองของอังกฤษ ก็รายงานว่า การจู่โจมคราวนี้กระทำกันเป็น 2 ระลอก และปฏิบัติการโดยพวกหัวรุนแรงประมาณ 20 คน ซึ่งลงมือเพื่อแก้แค้นให้แก่การตายของ อะบู ยาห์ยะ อัล-ลิบี (Abu Yahya al-Libi) ชาวลิเบียผู้มีฐานะเป็นผู้นำอันดับสองของอัลกออิดะห์ ที่ได้ถูกสังหารไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
“24 ชั่วโมงก่อนการโจมตีครั้งนี้ บุคคลผู้หนึ่งซึ่งก็มิใช่ใครอื่นเลยนอกจาก อัยมาน อัล-ซอวาฮิรี (Ayman al-Zawahiri) ผู้นำอัลกออิดะห์ ได้เผยแพร่วิดีโอที่มีเนื้อหาเป็นการแสดงความคิดเห็นแบบนักทำสงครามศาสนา เพื่อเป็นการรำลึกวันครบรอบปีของเหตุการณ์ 9 กันยายน” ควิลเลียม เขียนเอาไว้เช่นนี้ “ในวิดิโอดังกล่าวนี้ ซอวาฮิรีได้ยอมรับว่า อะบู ยาห์ยะ ผู้เป็นอันดับสองรองจากตัวเขา ได้ถูกสังหารเสียชีวิตไปแล้วจริง พร้อมกับเรียกร้องให้ชาวลิเบียทั้งหลายทำการแก้แค้นให้ อะบู ยาห์ยะ ด้วย”
ในส่วนของพวกเจ้าหน้าที่ลิเบีย ก็เสนอภาพในเวอร์ชั่นที่แตกต่างออกไป เป็นต้นว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย วานิส เอ-ชาริฟ (Wanis a-Sharif) บอกกับทางผู้สื่อข่าวว่า พวกผู้สนับสนุน มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตจอมเผด็จการของลิเบีย ซึ่งยังคงรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น คือพวกที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีคราวนี้ ขณะเดียวกัน เราย่อมยากที่จะหลีกหนีความเป็นจริงอันดูเหมือนจะแฝงฝังเสียงเย้ยเยาะของโชคชะตาเป็นนัยๆ เอาไว้ด้วย นั่นก็คือ เอกอัครราชทูตสตีเวนส์เสียชีวิตไปในลักษณะคล้ายๆ กับ จอมเผด็จการกัดดาฟี ผู้ซึ่งตัวเอกอัครราชทูตสตีเวนส์นั่นเองมีส่วนช่วยขับไล่โค่นล้ม แล้วต่อมาก็ถูกพวกกบฏกลุ้มรุมทำร้ายจนกระทั่งเสียชีวิตไปในปีที่แล้ว
คำอธิบายทั้งสองอย่างนี้ ไม่จำเป็นที่แต่ละอย่างจะต้องแยกออกเป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องกันเลย อันที่จริงแล้วมีข่าวลือกันอยู่มากเหมือนกันว่า พวกซากเดนของระบอบกัดดาฟีกำลังพยายามหาทางเอาตัวพวกเขาเข้าไปผูกเป็นพันธมิตรกับอัลกออิดะห์ นอกจากนั้น ก่อนที่ ซาอิฟ อัล-อิสลาม (Saif al-Islam) จะถูกจับกุมตัวไม่นานนัก บุตรชายคนที่สองของจอมเผด็จการกัดดาฟีผู้นี้ ก็ได้ออกมาเรียกร้องหลายต่อหลายครั้งให้ทำสงครามญิฮัด ซึ่งเป็นคำเรียกร้องที่มีนัยชวนให้นึกถึงพวกหัวรุนแรงอย่างอัลกออิดะห์
กระนั้นก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า การวางแผนเดินหมากเดินเกมภายในประเทศลิเบียเอง อาจมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับเหตุการณ์คราวนี้ ทั้งนี้ในคืนวันพุธที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา สมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติของลิเบียได้เลือก มุสตาฟา อะบุ ชากูร์ (Mustafa Abu Shagur) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ผู้เป็นนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์ผูกพันกับขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างเป็นประชาธิปไตยคนแรกของลิเบีย การลงคะแนนเลือกครั้งนี้เป็นไปอย่างคู่คี่สูสี และถือเป็นการปราชัยอย่างพลิกล็อกหักมุมของ มาหมุด จิบริล (Mahmoud Jibril) ผู้ซึ่งสังกัดอยู่ในกลุ่มพันธมิตรสายกลาง ที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อเดือนกรกฎาคม มีนักวิเคราะห์บางคนคาดเดาว่า การโจมตีที่เบงกาซีอาจเกิดขึ้นด้วยความจงใจที่จะส่งอิทธิพลต่อการออกเสียงในสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติก็เป็นไปได้
แต่ไม่ว่าใครคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุโจมตีคราวนี้ก็ตามที เหตุการณ์นี้ก็บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่การเมืองของตะวันออกกลางกำลังเขม็งตึงเครียดใกล้ระเบิด อย่างชนิดยากที่จะหาช่วงเวลาอันระอุคุกรุ่นได้ยิ่งกว่านี้อีกแล้ว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งกำลังเร่งรณรงค์หาเสียงอย่างหนักเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำอเมริกันสมัยที่สองในอีกไม่ถึงสองเดือนข้างหน้า ต้องยุ่งเกี่ยวพัวพันกับสมรภูมิทางการทูตและทางการเมืองในตะวันออกกลางหลายต่อหลายแนวรบพร้อมๆ กัน เป็นต้นว่า เขาจะต้องแสวงหาทาง "เป็นผู้นำอยู่หลังฉาก” ในการขับไล่โค่นล้มประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย (อันเป็นสถานการณ์ที่มองอย่างกว้างๆ แล้วก็คล้ายๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในลิเบียเมื่อปีที่แล้ว) นอกจากนั้นโอบามายังต้องพยายามกดดันบังคับให้อิหร่านยุติโครงการนิวเคลียร์ของพวกเขา ขณะเดียวกัน เขายังต้องหาทางทำให้เหล่าพันธมิตรผู้กำลังรู้สึกฮึดฮัดขุ่นเคือง เป็นต้นว่า อิสราเอล ยินยอมสงบอกสงบใจ รวมทั้งโอบามาก็ต้องคอยปกป้องหลบหลีกการรณรงค์โจมตีผลงานด้านนโยบายการต่างประเทศของเขา จากภายในอเมริกาเอง โดยเฉพาะจากค่ายของ มิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นคู่แข่งขันคนสำคัญที่สุดของเขา
วิกเตอร์ คอตเซฟ เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์การเมือง ซึ่งตั้งฐานอยู่ในเทลอาวีฟ