เอเจนซี - ขณะที่พยายามกระเบียดกระเสียนและตัดธุรกิจที่ไม่จำเป็นเสียแล้วออกไป เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดพ้นจากวิกฤตการเงินโลก พวกแบงก์ยุโรปก็พบว่ามีผู้ซื้อในเอเชียมากมายที่พร้อมรับช่วงรับซื้อทุกอย่าง ตั้งแต่หนี้ไปจนถึงธุรกิจประกันภัยและโบรกเกอร์ นอกจากนี้ยังมีสัญญาณบ่งชี้ว่าศูนย์กลางอำนาจในแวดวงการเงินโลกกำลังเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อปรากฏว่าการทำไอโอพีมูลค่าสูงสุดในโลก 2 ดีลหลังจากเฟซบุ๊กเกิดขึ้นในมาเลเซีย ไม่ใช่ในอเมริกาหรือว่ายุโรป
ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่าคือ บริษัทการเงินเอเชียส่วนใหญ่ไม่ผลีผลามฉวยโอกาสจากวิกฤตหนี้และการธนาคารในยุโรป
ตัวอย่างเช่น จีนที่เศรษฐกิจขยายตัวเป็นกว่า 2 เท่าตัวในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปีที่ผ่านมา แถมแดนมังกรยังมีธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน และมีความต้องการทรัพยากรอย่างมากมายมหาศาล ดังจะเห็นได้จากการที่ ซีนุก รัฐวิสาหกิจน้ำมันจีน ตกลงซื้อกิจการเน็กเซ็น ของแคนาดา ด้วยมูลค่า 15,100 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นการซื้อกิจการต่างชาติใหญ่ที่สุดของบริษัทจีนจนถึงขณะนี้ แต่แดนมังกรกลับยังไม่ได้ขยับเข้าซื้อกิจการรายยักษ์ใหญ่ในภาคการเงินการธนาคาร
เดวิด มาร์ช ผู้ร่วมก่อตั้งเวทีฟอรัมในลอนดอนที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงธนาคารกลางและกองทุนความมั่งคั่งแห่งรัฐกับธนาคารและผู้จัดการสินทรัพย์ มองว่าตะวันตกไม่ได้ผูกขาดนวัตกรรมและพลวัตในอุตสาหกรรมบริการการเงินอีกต่อไปแล้ว
ทว่า จีนกำลังเล่นเกมระยะยาว รอคอยวลาที่เหมาะสมและรอคอยของถูก ด้วยความที่มีนายแบงก์และเทรดเดอร์อย่างเหลือเฟือ บริษัทแดนมังกรจึงมีโอกาสสร้างทีมและความเชี่ยวชาญอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงซื้อคนซื้อบุคลากร แทนที่จะรีบเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ยักษ์ที่ต้องจ่ายราคาแพง
มาร์ชเสริมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นเพียงเค้าลางของการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน ก็ม่สามารถที่จะจัดให้จีนเป็นยักษ์หลับในด้านการซื้อกิจการระหว่างประเทศเสียทีเดียว มีรายงานว่า กองทุนลงทุนในหลักทรัพย์เอกชนสองแห่งของจีนได้เข้าร่วมวงประมูลซื้อธุรกิจบริหารสินทรัพย์ของเด็กเซีย กลุ่มการเงินฝรั่งเศส-เบลเยียม ที่อาจมีมูลค่า 500 ล้านยูโรขึ้นไป
นอกจากนี้ ซิติก ซีเคียวริตีส์ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ยังตกลงซื้อซีแอลเอสเอ เอเชีย-แปซิฟิก มาร์เกตส์ บริษัทโบรกเกอร์ดังในฮ่องกง จากบริษัทแม่คือ เครดีต์ อะกริโกล มูลค่า 1,250 ล้านดอลลาร์
ข้อตกลงนี้มีนัยในเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากซิติกเป็นโบรกเกอร์ใหญ่สุดของจีน ขณะที่เครดีต์ อะกริโกลกำลังฝ่าฟันการขาดทุนในกรีซ ซึ่งเป็นศูนย์กลางวิกฤตยูโรโซน และแบงก์แดนน้ำหอมแห่งนี้เป็นเจ้าของธนาคารใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ในกรีซคือ เอ็มพอริกี
เคน เคอร์ติส หุ้นส่วนผู้ก่อตั้งเธมส์ อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ และอดีตประธานกรรมการโกลด์แมน แซคส์ เอเชีย ชี้ว่า แบงก์ด้อยคุณภาพมักนำทรัพย์สินดีๆ ออกขายในช่วงวิกฤต และแบงก์ที่ไม่ต้องการระดมทุนด้วยการออกหุ้นใหม่มักจบลงด้วยการนำสินทรัพย์ในต่างประเทศออกขาย โดยเฉพาะสินทรัพย์มีคุณภาพ
ขณะนี้ สถาบันการเงินยุโรปหลายแห่งกำลังล่าถอยจากเอเชีย เช่น รอยัลแบงก์ออฟสกอตแลนด์เลหลังธุรกิจวาณิชธนกิจบางส่วนในเอเชียแปซิฟิกให้ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป โฮลดิงส์ของมาเลเซีย ขณะที่ไอเอ็นจีกำลังขายธุรกิจประกันภัยในเอเชียมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ โดยทั้งสองแบงก์นี้ต่างขอรับความช่วยเหลือจากรัฐระหว่างช่วงวิกฤต
เคอร์ติสสำทับว่า ซีแอลเอสเอจะกลายเป็นความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดสำหรับซิติก
โดยทั่วไปแล้วสถาบันการเงินจีนมีผู้บริหารที่มีความรอบรู้และความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการระหว่างประเทศไม่มากนัก ซึ่งเป็นเหตุผลให้ต้องเสริมสถานะนอกประเทศโดยเริ่มจากฮ่องกง โดยหมายถึงการสะสมประสบการณ์ในการจัดการฐานเงินทุนระหว่างประเทศขนาดใหญ่อย่างค่อยเป็นค่อยไป
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้จีนต้องระวังคือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งรัฐของแดนมังกรเคยขาดทุนครั้งใหญ่ จากการซื้อหุ้นในบริษัทจัดการกองทุน แบล็กสโตน และวาณิชธนกิจ มอร์แกน สแตนเลย์ ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลก
นอกจากนี้ ปิงอัน อินชัวรันซ์ บริษัทประกันภัยอันดับ 2 ของจีน ยังขาดทุนราว 3,000 ล้านดอลลาร์จากการลงทุนในปี 2007ในฟอร์ทิส กิจการสัญชาติเบลเยียม-ดัตช์ที่ล่มระหว่างเกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว
หลังจากนั้นปักกิ่งพยายามสกัดขัดขวางไม่ให้ทำข้อตกลงทางการเงินมากมายที่มองว่าเสี่ยงเกินไป
จากข้อมูลที่รวบรวมโดยโรเดียม กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาในนิวยอร์ก จีนลงทุนในธุรกิจบริการการเงินและประกันภัยในสหภาพยุโรป (อียู) คิดเป็นมูลค่า 526 ล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2000-2011 หรือเพียง 2.1% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงทั้งหมดของจีนในอียูในระยะเวลาดังกล่าว ทว่า ตัวเลขนั้นเป็นดีลเอ็มแอนด์เอเพียง 2 ดีล มูลค่า 31 ล้านดอลลาร์ ที่เหลือเป็นการลงทุนในรูปอื่นๆ เช่น การตั้งสำนักงานใหม่
กระนั้น โอกาสในการขยายตัวยังมีสูง เห็นได้จากความทะเยอทะยานของลอนดอนในการเป็นศูนย์กลางการเทรดเงินหยวน ประกอบกับการที่บริษัทจีนเข้าไปตั้งฐานในยุโรปมากขึ้น โดยโรเดียมยกตัวอย่างว่า ขณะนี้มีแบงก์จีนในตลาดสำคัญทุกแห่งของยุโรป เนื่องจากแบงก์เหล่านี้ติดสอยห้อยตามไปให้การสนับสนุนลูกค้าที่เป็นบริษัทแดนมังกรที่บุกเข้าไปในยุโรปนั่นเอง