เอเอฟพี - เหล่าผู้เชี่ยวชาญเมื่อวันพฤหัสบดี (16) ต่างแสดงความแปลกใจ จากเหตุพบฉลามเสือทรายยาวกว่า 2.50 เมตรเกยตื้นชายฝั่งของประเทศฝรั่งเศสแถบช่องแคบอังกฤษ เพราะปกติแล้วฉลามสายพันธุ์นี้มักจะพบในน่านน้ำอุ่นและลึกเท่านั้น
เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า ฉลามที่ตายแล้วตัวนี้มีน้ำหนักราว 200 ถึง 300 กิโลกรัม และยาวประมาณ 2.50 เมตร ทั้งนี้มันถูกพบเกยตื้นบนชายหาดของเมืองอาก็อง กูแต็งวิลย์ โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่ง ก่อนที่จะถูกคลื่นซัดลอยกลับสู่ทะเลในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา
“น้อยครั้งที่มนุษย์จะได้พบเห็นฉลามเสือทราย และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในช่องแคบอังกฤษ” เอริก สเตฟาน เจ้าหน้าที่ของของสมาคมศึกษาและคุ้มครองฉลามกล่าว “เราพบเห็นมันเฉพาะนอกชายฝั่งโคลอมเบีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และในทะเลทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเท่านั้น”
“ฉลามสายพันธุ์นี้กินปลาและหมึกเป็นอาหาร และไม่เคยถูกพาดพิงในเหตุการณ์ระหว่างมนุษย์กับฉลามเลย” เขากล่าว พร้อมระบุว่าฉลามเสือทรายมีความคล้ายคลึงกับฉลามสีเทา ที่พบเห็นกันบ่อยตามสวนน้ำ มากกว่าฉลามเสือดาวหรือฉลามวัว ที่มักโผล่โจมตีมนุษย์ตามเกาะเรอูว์นียงของฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่บริเวณมหาสมุทรอินเดีย
ขณะที่ ซามูเอล อิกเลซิอัส ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลามของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เวสต์ฟรองซ์ว่า “กรณีนี้สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะฉลามสายพันธุ์นี้มักพบในน้ำลึกเท่านั้น”
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การเกยตื้นของฉลามพบได้ยากกว่าวาฬอยู่มาก เนื่องจากฉลามสามารถหายใจได้ทางเหงือก ขณะที่วาฬจำเป็นโผล่ขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อสู่อากาศเข้าทางปอด แต่การปรากฏตัวของฉลามนอกชายฝั่งฝรั่งเศส รวมถึงช่องแคบอังกฤษ ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากมีการพบเห็นฉลามมากกว่า 30 สายพันธุ์ในบริเวณนี้ ยกเว้นฉลามเสือทราย
แต่ด้วยที่ไม่ได้ชันสูตรซาก ผู้เชี่ยวชาญจึงยอมรับว่าเป็นไปได้ยากที่จะทราบถึงสาเหตุของการเกยตื้นครั้งนี้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการตัดประเด็นที่มันอาจล้มป่วยหรือระบบอวัยวะภายในล้มเหลว