รอยเตอร์ - งานวิจัยชิ้นล่าสุดของไทยพบว่า สารประกอบในเครื่องเทศที่ใช้ทำแกงกะหรี่มีส่วนช่วยป้องกันโรคเบาหวานในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
ผลการศึกษาของนักวิจัยไทยซึ่งตีพิมพ์ลงวารสาร Diabetes Care พบว่า การได้รับสารเคอร์คิวมิน (curcumin) เป็นประจำทุกวันตลอดระยะเวลา 9 เดือน อาจสามารถป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในผู้ที่อยู่ในภาวะใกล้เป็นเบาหวาน (prediabetes) กล่าวคือ ผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนอาจพัฒนากลายเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes)
เคอร์คิวมิน เป็นสารประกอบในหัวขมิ้นชัน ซึ่งงานวิจัยในอดีตพบว่า สารชนิดนี้สามารถต่อต้านการอักเสบ และป้องกันมิให้เซลล์ถูกทำลายด้วยอนุมูลอิสระ ซึ่งกระบวนการทั้งสองนี้เชื่อว่าเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคร้าย รวมถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย
“ด้วยคุณประโยชน์และความปลอดภัยของสารชนิดนี้ เราจึงเสนอว่า สารสกัดเคอร์คิวมินอาจใช้ในการบำบัดผู้ป่วยโรคเบาหวานได้” สมลักษณ์ จึงสมาน หัวหน้านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นครนายก ระบุ
งานวิจัยชิ้นนี้เก็บข้อมูลจากคนวัยผู้ใหญ่ 240 รายที่อยู่ในภาวะใกล้เป็นเบาหวาน โดยสุ่มให้บางรายรับประทานเคอร์คิวมินชนิดแคปซูล และบางรายรับประทานยาหลอก (placebo) ซึ่งกลุ่มที่รับประทานเคอร์คิวมินนั้นจะได้รับแคปซูลที่มีสารเคอร์คิวมินอยด์ 250 มิลลิกรัม จำนวน 6 เม็ดต่อวัน
หลังผ่านไป 9 เดือน กลุ่มที่รับประทานยาหลอก 19 ใน 116 คนป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ขณะที่กลุ่มซึ่งรับประทานสารเคอร์คิวมิน 119 คน ไม่มีผู้ใดป่วยเป็นเบาหวานเลย
นักวิจัยพบว่า สารเคอร์คิวมินช่วยปรับปรุงการทำงานของเบตาเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่หลั่งสารอินซูลินออกมาย่อยน้ำตาล และคุณสมบัติต้านการอักเสบของเคอร์คิวมินช่วยป้องกันมิให้เบตาเซลล์ถูกทำลาย
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวานเตือนว่า ผู้บริโภคยังไม่ควรรีบไปหาซื้อแคปซูลเคอร์คิวมินมารับประทาน
“แม้ผลวิจัยจะมีความเป็นไปได้สูง แต่ยังมีคำถามต่อไปอีกมาก” คอนสแตนซ์ บราวน์-ริกส์ นักวิชาการศึกษาเรื่องโรคเบาหวานซึ่งมีประกาศนียบัตรรับรอง และโฆษกประจำวิทยาลัยโภชนาการและโภชนวิทยา กล่าว
บราวน์ ริกส์ ระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้ใช้เวลาเพียง 9 เดือน ในขณะที่ผลการศึกษาอื่นๆ ซึ่งใช้เวลายาวนานและใช้กลุ่มตัวอย่างมากกว่า พบว่าการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต เช่น ลดแคลอรีและออกกำลังกาย ก็สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในกลุ่มเสี่ยงได้เช่นกัน
เธอยังเตือนว่า ผู้บริโภคไม่อาจแน่ใจได้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ซื้อมานั้นมีสารเคอร์คิวมินอยู่จริง และมีในปริมาณเท่ากับที่ระบุบนฉลากหรือไม่
“หากดิฉันกำลังให้คำปรึกษาคนไข้ ดิฉันจะแนะให้เขารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเปลี่ยนพฤติกรรมโดยรวมมากกว่า”