xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “พัชราภิเษกสมโภช” ปลุกกระแสนิยมราชวงศ์อังกฤษพุ่งสูงสุดในรอบหลายสิบปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประชาชนชาวอังกฤษนับล้านคนต่างรอคอยด้วยใจจดจ่อที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีพัชราภิเษกสมโภช เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ท่ามกลางกระแสความนิยมในสถาบันกษัตริย์ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

พระราชพิธีเฉลิมฉลองได้ดำเนินมาถึงช่วงสำคัญ ระหว่างวันที่ 2-5 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะมีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในแม่น้ำเทมส์ การแสดงดนตรีโดยศิลปินชื่อก้องโลก และขบวนพระราชพิธีอันสุดอลังการ

รัฐบาลอังกฤษประกาศวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษเพิ่มอีก 2 วันหลังวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อให้ประชาชนได้เต็มอิ่มกับพระราชพิธีประวัติศาสตร์ โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษที่ได้มีพระราชพิธีพัชราภิเษกสมโภช ถัดจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

ในวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน คาดว่าจะมีชาวอังกฤษราว 1 ล้านคนมาจับจองพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ เพื่อเฝ้าชมกระบวนพยุหยาตราอันมีเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระราชินีนาถอยู่กึ่งกลางขบวน รายล้อมด้วยเรือกลไฟ เรือพ่วง เรือเร็ว และเรือโบราณที่ตบแต่งอย่างงดงามตระการตา

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายนจะมีการจุดคบเพลิงทุกๆ ประเทศในเครือจักรภพ ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถก็จะทรงจุดคบเพลิงบริเวณพลับพลาหน้าพระราชวังบักกิงแฮม ท่ามกลางหมู่ศิลปินดัง อาทิ เซอร์พอล แม็คคาร์ทนีย์ ที่จะร่วมการแสดงเฉลิมพระเกียรติหน้าพระที่นั่งด้วย

หลังจากที่พระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียมกับ น.ส.แคทเธอรีน มิดเดิลตัน ได้จุดกระแสคลั่งไคล้พระราชวงศ์อังกฤษยุคใหม่ไปทั่วโลกเมื่อปีที่ผ่านมา พระราชพิธีพัชราภิเษกสมโภชของควีนเอลิซาเบธในปีนี้ก็คาดว่าจะยิ่งทำให้ความนิยมชมชื่นในสถาบันกษัตริย์อังกฤษพุ่งถึงขีดสุด

ราชวงศ์อังกฤษในยุคเมฆหมอกสลาย

การสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหันของเจ้าหญิงไดอานาที่กรุงปารีส เมื่อปี 1997 นำความโศกเศร้าครั้งใหญ่มาสู่ชาวอังกฤษและประชาชนทั่วโลกที่รักและเทิดทูนพระองค์ ขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ภาพลักษณ์ของราชวงศ์วินด์เซอร์ดิ่งลงสู่ยุคมืด เนื่องจากชาวอังกฤษไม่พอใจที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงมีท่าทีเย็นชาต่อการจากไปของเจ้าหญิงแห่งปวงชน

เคต วิลเลียม นักประวัติศาสตร์ผู้แต่งหนังสือ Young Elizabeth: The Making of our Queen อธิบายว่า ทุกวันนี้กระแสนิยมในองค์สมเด็จพระราชินีนาถกลับพุ่งสู่จุดสูงสุดนับตั้งแต่ที่ทรงขึ้นครองราชย์ ไม่ว่าจะในอังกฤษหรือประเทศเครือจักรภพก็ตาม ซึ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับบรรยากาศหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดพบว่า ชาวอังกฤษร้อยละ 80 ยังปรารถนาที่จะอยู่ใต้ร่มพระบารมีของสมเด็จพระราชินีนาถต่อไป มีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่ต้องการเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ ทั้งที่ก่อนจะถึงพระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียมกับ เคต มิดเดิลตัน เมื่อวันที่ 29 เมษายน ปี 2011 มีประชาชนเพียงร้อยละ 75 เท่านั้นที่สนับสนุนราชวงศ์

ไซมอน อัตคินสัน รองผู้บริหารสถาบัน อิปซอส เอ็มโออาร์ไอ ซึ่งจัดทำการสำรวจความคิดเห็นชี้ว่า การที่สมเด็จพระราชินีนาถเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนทั่วอังกฤษเนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบปีที่ 60 ทำให้ประชาชนเกิดความภาคภูมิใจในชาติและสถาบันเบื้องสูงมากขึ้น นอกจากนี้ สมาชิกใหม่ของราชวงศ์อย่าง เคต มิดเดิลตัน หรือดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ก็ทรงมีบทบาทสำคัญไม่น้อยในการกอบกู้แรงศรัทธาของประชาชนให้กลับคืนมา

สื่อเมืองผู้ดีต่างยกย่องเจ้าชายวิลเลียมและพระชายาว่าทรงมีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้สถาบันกษัตริย์กลับมาเป็นที่นิยม โดยในวันครบรอบ 1 ปีการเสกสมรส หนังสือพิมพ์ซันเดย์ ไทม์ส ของอังกฤษถึงกับใช้คำว่า “เจ้าหญิงเคตผู้ยิ่งใหญ่ทรงชนะใจเราทุกคน” ขณะที่ ซันเดย์ เทเลกราฟ รายงานว่า “ผ่านไปแค่ 12 เดือน เรากลับอดสงสัยไม่ได้ว่าราชวงศ์อังกฤษเดินมาได้อย่างไรโดยไม่มีเธอ?”

แม้จะมีความกังวลก่อนหน้านี้ว่า แคทเธอรีน มิดเดิลตัน อาจถูกราชวงศ์กดดันจนสภาพจิตเศร้าหมอง เหมือนครั้งที่เจ้าหญิงไดอานาทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทว่าดัชเชสแห่งเคมบริดจ์หรือที่คนทั่วไปมักเรียกพระนามโดยลำลองว่า “เคต” กลับทรงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทรงปรับตัวให้เข้ากับการเป็นสมาชิกราชวงศ์ได้อย่างง่ายดาย ทุกวันนี้ทรงได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นเจ้านายที่ฉลองพระองค์สวยเก๋มีสไตล์ที่สุด ทรงเป็นผู้นำแฟชั่นของสาวๆ ทั้งในอังกฤษและทั่วโลก และยังทรงเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ตามการจัดอันดับโดยนิตยสารไทม์สอีกด้วย

เจ้าชายวิลเลียมและพระชายาทรงชนะใจมหาชนชาวอังกฤษด้วยความเป็นกันเองและจับต้องได้ ทั้งยังทรงเป็นแรงผลักดันให้สถาบันกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่ทรงสร้างความฮือฮาด้วยการเสด็จฯ ไปทดลองเป็นผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศทางโทรทัศน์ครั้งแรก รวมถึงการเสด็จพระดำเนินเยือนต่างแดนอย่างเป็นทางการของเจ้าชายแฮร์รี ขณะที่เจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ทรงเผยว่า สมเด็จพระราชินีนาถทรงชื่นชมที่ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์สามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตในวังได้ง่ายเหมือน “เป็ดที่กระโดดลงน้ำ” และทรงพร้อมที่จะปกป้องเธอด้วย

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่กลับมารุ่งโรจน์ได้ถึงขั้นนี้ก็เกิดจากการวางแผนอย่างรัดกุมจากผู้เชี่ยวชาญด้านโฆษณาทั้งหลาย แต่แหล่งข่าวใกล้ชิดพระราชวงศ์ยืนยันว่า ไม่ได้มีการวางยุทธศาสตร์ที่ซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงเปิดโอกาสให้พสกนิกรได้เข้าถึงและรู้จักเจ้านายแต่ละพระองค์อย่างที่ทรงเป็น ขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงเลือกวิธีที่จะสื่อสารกับประชาชนอย่างเหมาะสมที่สุดเท่านั้นเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น