xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ปากีฯ โดนข้อหา “หมิ่นศาล” หลังฝืนคำสั่งรื้อคดีคอร์รัปชันของ ปธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ยูซุฟ ราซา กิลานี เดินทางถึงศาลสูงสุดปากีสถานในกรุงอิสลามาบัด วันนี้ (26) พร้อมโบกมือทักทายผู้สนับสนุนที่มาให้กำลังใจ
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีปากีสถานเจอความผิดฐานหมิ่นศาล วันนี้ (26) หลังปฏิเสธที่จะรื้อฟื้นคดีทุจริตประพฤติมิชอบของประธานาธิบดี ซึ่งข้อหาดังกล่าวอาจทำให้นายกฯ ผู้นี้ต้องพ้นจากตำแหน่งในที่สุด

ศาลสูงสุดปากีสถานตัดสินให้นายกรัฐมนตรี ยูซุฟ ราซา กิลานี มีความผิดฐานหมิ่นศาล เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้ส่งคำร้องไปยังทางการสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรื้อฟื้นคดีทุจริตของประธานาธิบดี อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี

กิลานี ต้องโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน ทว่าศาลได้สั่งลงโทษพอเป็นพิธีก่อนที่จะเลื่อนการพิจารณาออกไป ทว่าความผิดดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการถอดถอนเขาออกจากสมาชิกรัฐสภา รวมไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

กระบวนการที่ว่านี้อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน และการถอดถอน กิลานี ก็อาจไม่ทำให้รัฐบาลถูกล้มไปด้วย เนื่องจากพรรคประชาชนปากีสถาน (พีพีพี) ยังสามารถสรรหาบุคคลอื่นขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนเขาได้

อิรฟาน กอดีร์ อัยการสูงสุดปากีสถาน ระบุว่า ขณะนี้ กิลานี ยังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่สถานะดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไป หากเรื่องนี้ขึ้นไปถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร

“หากท่านคิดว่าคำพิพากษานี้ถูกต้อง ก็จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือหากพิจารณาเห็นว่าคำพิพากษานี้ไม่ถูกต้อง ก็อาจตัดสินใจเป็นอย่างอื่น” กอดีร์ ระบุ

ความผิดฐานคอร์รัปชันของ ซาร์ดารี เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเขาและอดีตนายกรัฐมนตรี เบนาซีร์
บุตโต ผู้เป็นภรรยา ถูกตั้งข้อหาใช้บัญชีธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ฟอกเงินจำนวน 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินสินบนจากบริษัทเอกชนต่างๆ

ศาลสวิตเซอร์แลนด์สั่งพักคดีดังกล่าวไปในปี 2008 หลัง ซาร์ดารี ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปากีสถาน โดยอัยการสวิสระบุว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะรื้อฟื้นคดีดังกล่าว ตราบใดที่ ซาร์ดารี ยังอยู่ในฐานะผู้นำประเทศ ซึ่งได้รับความคุ้มกันจากการถูกฟ้องร้อง
ผู้สนับสนุนพรรคประชาชนปากีสถาน(พีพีพี) ออกมาประท้วงคำตัดสินของศาลสูงสุด ที่ให้นายกรัฐมนตรี กิลานี มีความผิดฐานหมิ่นศาล
ผู้ประท้วงเผาหุ่นประธานผู้พิพากษาศาลสูงสุด อิฟติคอร์ โมฮัมหมัด ชูอาดรี หลังนายกฯ กิลานี ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานหมิ่นอำนาจศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น