อินดิเพนเดนต์ ออนไลน์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นักโทษคดียาเสพติดชาวแอฟริกาใต้ผู้หนึ่ง กำลังจะได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน หลังต้องโทษจำคุกในประเทศไทยมาเป็นเวลา 18 ปี ทั้งนี้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษคดียาเสพติดชาวต่างชาติ เนื่องในวโรกาสวันมหามงคล 5 ธันวาคม เว็บไซต์ข่าว อินดิเพนเดนต์ ออนไลน์ (ไอโอแอล) ของแอฟริกาใต้ รายงานวานนี้ (13)
อเล็กซานเดอร์ (ชานี) เครบส์ ถูกจับกุมในกรุงเทพฯ ข้อหาลักลอบขนยาเสพติดข้ามประเทศ เมื่อปี 1994 ในวันนั้น เป็นวันที่แอฟริกาใต้มีการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยครั้งแรก ซึ่งพรรคของ เนลสัน แมนเดลา ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น และ แมนเดลา กลายเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศ
เครบส์ ถูกรวบตัวระหว่างพยายามขนเฮโรอีนออกจากประเทศไทย ศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิต และให้ควบคุมตัวรอการประหารที่เรือนจำกลางบางขวาง ขณะนั้น อเล็กซานเดอร์ เครบส์ มีอายุ 34 ปี
หลังจากนั้น เครบส์ ได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 100 ปี และ 40 ปี ตามลำดับ กระทั่งล่าสุดในวันที่ 5 ธันวาคม เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษชาวต่างชาติผู้ต้องคดียาเสพติด และเครบส์ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้
ปัจจุบัน เครบส์ อายุ 52 ปี กำลังจะได้กลับไปพบหน้าครอบครัวในนครโจฮันเนสเบิร์ก วันที่ 28 เมษายน
โจอัน แซกส์ พี่สาวของ อเล็กซานเดอร์ เครบส์ บรรยายความรู้สึกที่จะได้ต้อนรับน้องชายกลับบ้านในรอบเกือบ 20 ปี ว่า “ซาบซึ้งเกินพรรณนา”
“ฉันเฝ้าภาวนามาตลอดหลายปี ขอให้น้องได้กลับบ้าน ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าเขาคงไม่ได้เป็นอิสระอีกแล้ว” โจอัน แซกส์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในโจฮันเนสเบิร์ก “ชานี ถูกจับวันที่ 26 เมษายน 1994 ก่อนการเลือกตั้งโดยเสรีครั้งแรกของแอฟริกาใต้”
ทั้งนี้ แซกส์ เล่าเหตุการณ์ที่เครบส์ถูกจับกุมในกรุงเทพฯ ว่า “เขาเพิ่งแยกทางกับคู่หมั้น ฉันเลยซื้อทัวร์ให้เขาไปพักผ่อนที่ไทย 10 วัน” แต่โชคร้าย “ทรัพย์สินทุกอย่างของเครบส์ในห้องพักถูกขโมย ต่อมา เขาได้เจอกับคนไนจีเรียที่บาร์แห่งหนึ่ง และถูกว่าจ้างให้ถือกระเป๋าใบหนึ่งกลับมาแอฟริกาใต้ ก็เพราะกระเป๋าถูกขโมยก่อน เขาถึงต้องไปถือกระเป๋าใบนั้น ก่อนจะถูกจับที่สนามบิน ฉันไม่รู้หรอกค่ะว่าเครบส์รู้ไหม ว่า ในกระเป๋าใบนั้นมีเฮโรอีน”
ตั้งแต่ อเล็กซานเดอร์ เครบส์ ต้องโทษในไทย โจอัน แซกส์ ก็พยายามทำทุกทางเพื่อคืนอิสรภาพให้น้องชาย
ในปี 1998 แซกส์ เขียนคำร้องขอย้ายเรือนจำถึงกระทรวงต่างประเทศแอฟริกาใต้ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ อีกครั้งหนึ่งในปี 1999 เธอเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อยื่นเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้เครบส์ แต่ก็คว้าน้ำเหลวอีกครั้ง เนื่องจากทางการแอฟริกาใต้ไม่ได้ให้การสนับสนุน อนึ่ง การขอพระราชทานอภัยโทษสำหรับนักโทษต่างชาติ จำเป็นต้องมีหนังสือรับรองจากสถานทูตประเทศนั้นๆ
“18 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก” แซกส์ บรรยายความรู้สึก “ความเจ็บปวดมันเลวร้ายยิ่งกว่าให้เขาตายไปเสียอีก เพราะฝันร้ายมันยังเกิดขึ้นทุกวัน”
สำหรับการต้อนรับน้องชายกลับบ้านในเดือนหน้า แซกส์ และ คาตาลิน มารดา วัย 88 ปี ได้จองรถลีมูซีนไว้รอรับเครบส์ถึงท่าอากาศยาน “เราซื้อไอโฟนและโน้ตบุ๊กไว้ให้เขาแล้ว” เธอรู้สึกว่าโลกภายนอกเรือนจำในปี 2012 “คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขา เครบส์ นอนบนพื้นคอนกรีตมา 18 ปี มันถึงเวลาแล้วที่เขาจะได้นอนบนเตียงอีกครั้ง”
เบลินดา เวสต์ ผู้ก่อตั้งองค์กร “ล็อก อัพ” หน่วยงานที่คอยช่วยเหลือครอบครัวนักโทษแอฟริกาใต้ที่ต้องโทษในต่างแดน กล่าวว่า เธอตื้นตันมากที่เครบส์จะได้รับอิสรภาพ “ตอนองค์กรของเราก่อตั้งในปี 2008 ครอบครัวของเครบส์เป็นรายแรกๆ ที่เข้ามาติดต่อเรา”
เวสต์ ระบุเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังมีนักโทษชาวแอฟริกาใต้ในไทยอีกประมาณ 12 คน ในจีน 5 คน และในบราซิลมากถึง 400 คน