เอเอฟพี/เอเจนซี - นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น รายหนึ่งเผยเมื่อวันอังคาร (6) ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์สายไวโอลินจากใยแมงมุม ซึ่งให้กำเนิดเสียงอันไพเราะ และนุ่มลึกกว่าสายไวโอลินแบบดั้งเดิม
ดร.ชิเกโยชิ โอซากิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีโพลิเมอร์ จากมหาวิทยาลัยการแพทย์นาระ เจ้าของผลงานดังกล่าว พรรณนาว่า เส้นใยบางๆ หลายพันเส้นรวมกันก็ให้เกิดความแข็งแรง และเส้นสายที่ยืดหยุ่นก็สามารถสร้างเครื่องดนตรีที่สมบูรณ์แบบได้เช่นกัน
โอซากิ ผู้ซึ่งศึกษาลักษณะทางกลศาสตร์ของใยแมงมุมมา 35 ปี ก่อนหน้านี้ เคยมีแนวคิดนำใยแมงมุมไปประยุกต์ใช้ด้านการแพทย์สำหรับการเย็บแผล หรือสร้างเสื้อกันกระสุน แต่ความหลงใหลที่มีต่อไวโอลินกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคิดค้นผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา
ในขั้นตอนการสร้างใยนั้น รูปทรงของมันจะเปลี่ยนจากทรงกระบอกเป็นหลายเหลี่ยม และด้วยเหตุนี้เองใยแมงมุมจึงประสานตัวเข้าด้วยกันได้ดีกว่าเส้นใยอื่นๆ โอซากิบอกกับเอเอฟพี
“ในขั้นตอนการสร้างใยตามปกติ เส้นใยแต่ละเส้นจะมีระยะห่างระหว่างกัน แต่สิ่งที่เราประสบความสำเร็จ คือ ไม่เหลือช่องว่างในหมู่เส้นใยที่นำมาประสานกัน มันทำให้เส้นสายมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น” เขากล่าว พร้อมเผยว่าใช้แมงมุมเพศเมียพันธุ์เนฟิลา มาคูลาตา จำนวน 300 ตัว สำหรับผลิตเส้นใยที่นำมาประดิษฐ์สายไวโอลินครั้งนี้
ดร.โอซากิ ยังกล่าวด้วยว่า เส้นใยแมงมุมของเขาสามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 600 กิโลกรัม ( 1,300 ปอนด์ ) ขณะที่สายไวโอลินจากใยแมงมุมของเขา กำลังเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่นักดนตรี ว่า สามารถให้เสียงที่เป็นเอกลักษณ์อย่างน่าพอใจ ด้วยคำชมว่ามันให้เสียงไพเราะและนุ่มลึกกว่าสายไวโอลินแบบดั้งเดิมที่ทำจากเอ็นหรือโลหะ
ทั้งนี้ รายละเอียดในผลงานวิจัยครั้งนี้ของโอซากิ จะมีการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของสมาคมฟิสิกส์อเมริกันต่อไป