เอเอฟพี - ค่ายรถจากญี่ปุ่นถึงอินเดียเล็งโบนัสก้อนใหญ่ในอินโดนีเซีย ประเทศเศรษฐกิจยักษ์อันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เพิ่งแย่งตำแหน่งตลาดรถใหญ่สุดในภูมิภาคแถบนี้ไปจากไทยสดๆ ร้อนๆ เมื่อปีที่แล้ว ถึงแม้นักวิเคราะห์เชื่อยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่แดนอิเหนาจะสามารถช่วงชิงฐานะความเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” ไปจนแดนสยาม
ด้วยอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจระดับ 6.5% ต่อปี ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากไต่เต้าเป็นชนชั้นกลางและมีความต้องการรถ รวมถึงสัญลักษณ์ทางสังคมอื่นๆ ในฐานะเศรษฐีใหม่มากขึ้นตามไปด้วย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับเป็นข่าวดีสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่กำลังมีปัญหายอดขายตกในยุโรปและอเมริกา จึงพากันบ่ายหน้าสู่ประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในเอเชียอาคเนย์แห่งนี้
ปีที่ผ่านมา คนอินโดนีเซียซื้อรถ 890,400 คัน และฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน กลุ่มวิจัยธุรกิจคาดว่า ตัวเลขสำหรับปีนี้จะเพิ่มเป็นราว 940,000 คัน
รายงานระบุอีกว่า อินโดนีเซียแซงหน้าไทยขึ้นเป็นตลาดรถใหญ่สุดในภูมิภาคแถบนี้ไปเรียบร้อยแล้ว และปีนี้จะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ กันอย่างคึกคัก 25-30 รุ่น ซึ่งจะส่งให้ยอดขายคึกคักตามไปด้วย
ยอดขายที่แข็งแกร่งนี้เป็นแรงผลักดันให้บริษัทรถทุ่มทุนสร้างโรงงานและโชว์รูมใหม่ในแดนอิเหนา
“ปีที่แล้ว ค่ายรถต่างแดนประกาศจะลงทุนในอินโดนีเซียเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้ คำสัญญานี้จะเป็นจริงในปีนี้” บูดี ดาร์มาดี ผู้อำนวยการจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
กระแสนี้มีค่ายรถญี่ปุ่นที่ครองตลาดอยู่ถึง 90% เป็นแกนนำ
โตโยต้ากำลังจะมีโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ซูซูกิวางแผนเปิดโรงงานแห่งที่ 3 ส่วนนิสสันอัดงบ 250 ล้านดอลลาร์ขยายโรงงานที่มีอยู่
โตโยต้านั้นพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาด 35% เอาไว้ให้ได้ และต้องการเพิ่มการผลิตจาก 110,000 คันเมื่อปีที่แล้วเป็น 180,000 คันในปี 2013
ขณะที่ คุนาดี สินธุวินาตะ ตัวแทนของซูซูกิ อินโดโมบิล มอเตอร์ในจาการ์ตา เผยว่า บริษัทมีแผนลงทุน 800 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 2 ปีในประเทศนี้
ค่ายรถต่างมั่นใจว่า ยอดขายที่แข็งแกร่งเมื่อปีที่แล้วจะยังคงดำเนินต่อไป
ปี 2011 ยอดขายของนิสสันเพิ่มขึ้นถึง 50% และของซูซูกิเพิ่มขึ้น 1 ใน 3
บริษัทรถอเมริกันอย่าง ฟอร์ด และเจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) กระทั่งทาทา กรุ๊ปของอินเดีย ต่างเล็งหาช่องทางทำกำไร
ฟอร์ด ค่ายรถเบอร์ 2 แดนอินทรี ทำยอดขายในแดนอิเหนาเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีที่ผ่านมา และต้องการรักษาสถิตินี้ในปีปัจจุบัน
ฟอร์ดตั้งตัวแทนจำหน่ายใหม่อีก 7 แห่งเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มอีก 8 แห่งในปีนี้
ขณะเดียวกัน จีเอ็มกำลังลงทุน 150 ล้านดอลลาร์เพื่อเปิดโรงงานในชวาตะวันตกสำหรับผลิตรถมินิแวนที่เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในหมู่ชาวอิเหนา
ด้านทาทา มอเตอร์กำลังตรึกตรองแผนการในการบุกอินโดนีเซีย เนื่องจากเชื่อว่า ลูกค้าน่าจะชอบรถของบริษัท
ถึงแม้ปีที่แล้ว อินโดนีเซียแซงหน้าไทยในแง่ยอดขายรถยนต์ หลังจากเศรษฐกิจไทยระส่ำจากอุทกภัยครั้งใหญ่ กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า อินโดนีเซียยังต้องใช้เวลาอีกนานในการแย่งชิงตำแหน่งศูนย์การผลิตรถจากไทยที่ได้ชื่อว่า "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” จากการเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกไปยังกว่า 200 ประเทศ
นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจเติบโตน่าประทับใจ แต่แดนอิเหนายังมีปัญหาเรื่องกระบวนการราชการที่ซับซ้อน การคอร์รัปชั่น โครงสร้างพื้นฐานที่แทบเรียกได้ว่าไม่มี และปัญหาการจราจรติดขัด
ในแต่ละวันในกรุงจาการ์ตาจะมีรถใหม่บนท้องถนนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,000 คัน ทว่ารถราว 8 ล้านคันจะต้องคืบคลานไปตามเส้นทางที่ถือว่าการจราจรเป็นอัมพาตเลวร้ายที่สุดในเอเชีย
จากการคาดการณ์ของอินโดนีเซียน ทรานสปอร์เตชัน โซไซตี้ ที่ประกอบด้วยนักวิชาการและข้าราชการ การจราจรในจาการ์ตาจะถึงขั้นติดขัดโดยสิ้นเชิงในปี 2014
รายงานของฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวนสำทับว่า จาการ์ตามีความท้าทายอย่างมากในการจัดการปัญหาการจราจร และการจราจรที่ติดขัดไม่ได้ทำให้เสียเวลาอันมีค่าเท่านั้น แต่ยังขัดขวางการเติบโตของตลาดรถยนต์อีกด้วย เนื่องจากคนจำนวนมากยังคงเลือกใช้รถจักรยานยนต์ที่ขับเคลื่อนคล่องแคล่วว่องไวเหมาะกับสภาพการจราจรมากกว่ารถยนต์