xs
xsm
sm
md
lg

เฟซบุ๊กเริ่มขั้นตอนเข้าตลาดหุ้นคาดบริษัทจะมีมูลค่า$1แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี - “เฟซบุ๊ก” เปิดแผนนำหุ้นบางส่วนของบริษัทออกมาเสนอขายประชาชน (ไอพีโอ) อันเป็นขั้นตอนของกระบวนการนำหุ้นเหล่านี้เข้าซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป ทั้งนี้นับเป็นการทำไอพีโอครั้งใหญ่ที่สุดในหมู่บริษัทอินเทอร์เน็ต โดยคาดหมายกันว่าอาจระดมทุนได้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ กระนั้นผู้ก่อตั้งอย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะยังคงมีอำนาจควบคุมบริษัทเกือบจะสมบูรณ์ดังเดิม

ซักเคอร์เบิร์ก อดีตนักศึกษาฮาร์วาร์ดที่ทิ้งการเรียนกลางคัน แต่สามารถสร้างปรากฏการณ์เครือข่ายสังคมออนไลน์จากหอพักนักศึกษา จะถือหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียงถึง 56.9% ในเฟซบุ๊ก ซึ่งคาดหมายกันว่าจะมีมูลค่าถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว เมื่อมีการทำไอพีโอ และทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของอเมริกา

ในเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) เมื่อวันพุธ (2) เฟซบุ๊กระบุว่า ต้องการระดมทุน 5,000 ล้านดอลลาร์ ทว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นมูลค่าสำหรับการคำนวณค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของนักลงทุน

พวกนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า จากหุ้นที่นำออกมาทำไอพีโอ เฟซบุ๊กจะระดมทุนได้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ อันจะทำให้มูลค่าของทั้งบริษัทอยู่ในระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือเป็นสองเท่าของบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่อย่างฮิวเลตแพคการ์ด และตอกย้ำการเติบโตอย่างมโหฬารของสื่อสังคมทั่วโลกในฐานะช่องทางสำหรับการสื่อสารและความบันเทิง

มูลค่าตลาดรวม 100,000 ล้านดอลลาร์ ยังจะทำให้เฟซบุ๊กเทียบชั้นแมคโดนัลด์ (101,000 ล้านดอลลาร์) และใหญ่กว่าโบอิ้ง (55,000 ล้านดอลลาร์) แต่ยังคงเล็กกว่าแอปเปิล (426,000 ล้านอดลลาร์) และกูเกิล (189,000 ล้านดอลลาร์)

ทั้งนี้ ซักเคอร์เบิร์กทำสัญญากับนักลงทุนในเฟซบุ๊กหลายคน อาทิ ยูริ มิลเนอร์ จากดีเอสแอล โกลบัล และเดอะ ฟาวเดอร์ส ฟันด์ ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารจัดการแบบเดียวกับที่เซอร์กี้ บริน และลาร์รี เพจ ดำเนินการกับกูเกิล และครอบครัวซัลส์เบอร์เกอร์ทำกับนิวยอร์กไทมส์

ซักเคอร์เบิร์กยังตกลงลดค่าตอบแทนของตัวเองลงจาก 1.48 ล้านดอลลาร์ปีที่แล้ว เหลือ 1 ดอลลาร์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2013 ตามแบบสตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งแอปเปิล

เฟซบุ๊กเผยว่า จะเข้าตลาดในชื่อ “เอฟบี” แต่ไม่ได้ระบุกำหนดเวลาที่แน่นอน หรือระบุว่า จะจดทะเบียนในตลาดแนสแด็กหรือตลาดหุ้นนิวยอร์ก

นอกจากนี้ในหนังสือชี้ชวนยังระบุว่า ปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กมีรายได้ 3,710 ล้านดอลลาร์ และกำไรสุทธิ 1,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 65% จากที่ทำได้ 606 ล้านดอลลาร์ในปี 2010

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเฟซบุ๊กส่งผลให้บริษัทอินเทอร์เน็ตมากมาย ตั้งแต่ยาฮูจนถึงกูเกิล ต้องเตรียมพร้อมมากขึ้น อีมาร์เก็ตส์ระบุว่า ปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแซงหน้ายาฮูกลายเป็นผู้ให้บริการพื้นที่โฆษณาออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ในแง่รายได้

และข้อมูลจากธอมสัน รอยเตอร์ระบุว่า การทำไอพีโอมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ จะถือเป็นมูลค่าสูงสุดอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์อเมริกัน รองจากวีซ่า, เจเนอรัล มอเตอร์ส และเอทีแอนด์ที ไวร์เลส และทำให้การทำไอพีโอของผู้เล่นชั้นนำในอินเทอร์เน็ตดูเล็กน้อยไปถนัดใจ ตัวอย่างเช่นกูเกิลที่ระดมทุนครั้งแรกเพียง 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2004 และ 1,000 ล้านดอลลาร์สำหรับซิงกา ผู้พัฒนาเกมฟาร์มวิลล์ที่ฮิตระเบิดเถิดเทิงในเฟซบุ๊ก

หนังสือชี้ชวนแจงว่า 85% ของรายได้ของเฟซบุ๊กในปี 2011 มาจากโฆษณา

จอร์จ จอห์น ผู้ก่อตั้งร็อกเก็ต ฟูเอล บริษัทการตลาดระบบดิจิตอล ชี้ว่า เฟซบุ๊กตั้งเป้าเพิ่มแรงดึงดูดผู้ลงโฆษณารายใหญ่ ด้วยการปรับปรุงศักยภาพการกำหนดเป้าหมายโฆษณา เช่น การเก็บข้อมูลของผู้ใช้ผ่านคุณสมบัติใหม่ อาทิ ไทม์ไลน์

ขณะที่ไมเคิล การ์เทนเบิร์ก นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีของการ์ตเนอร์ ไม่คิดว่า การเข้าตลาดหุ้นจะมีผลต่อผู้ใช้โดยทั่วไปมากนัก ทว่า เงินสดที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เฟซบุ๊กขยายตัวและพัฒนาตัวเองไปไกลกว่าคู่แข่ง

กระนั้น ในจดหมายถึงนักลงทุน ซักเคอร์เบิร์กย้ำว่า “ภาระกิจทางสังคม” มีความสำคัญมากกว่าการไล่ล่าผลกำไร รวมทั้งระบุถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า ยังคงอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมวิศวกรรมที่เรียกว่า “วิถีของแฮ็กเกอร์” ซึ่งหมายถึงการที่เหล่าแฮ็กเกอร์มักเชื่อว่า สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นและไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น