xs
xsm
sm
md
lg

“แอสซานจ์” ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ ขึ้นศาลสูงสุดอังกฤษ อุทธรณ์คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จูเลียน แอสซานจ์ (ซ้าย) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ นั่งยิ้มกริ่มระหว่าง ดีนาห์ โรส (ขวา) หัวหน้าทีมทนายของเขา อธิบายเหตุผลหว่านล้อมคณะผู้พิพากษา 7 ท่าน แห่งศาลสูงสุดอังกฤษในวันพุธ (1) ให้รับคำอุทธรณ์คดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้สวีเดน
เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - จูเลียน แอสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ ขึ้นศาลสูงสุดอังกฤษสู้คดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่ตกเป็นจำเลย วานนี้ (1) โดยทีมทนายอธิบายต่อศาลว่า หากลอนดอนส่งตัวเขาให้สวีเดนตามหมายจับข้อหาข่มขืน จะเป็นการละเมิดต่อหลักกฎหมายที่ใช้กันมา 1,500 ปี

แอสซานจ์ อดีตแฮกเกอร์ชาวออสเตรเลียวัย 40 ปี เดิมพันคดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในระบบศาลอังกฤษเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยเหตุผลสำคัญว่า อัยการสวีเดนไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการออกหมายจับตัวเขาเมื่อเดือนธันวาคม 2010

ทีมทนายของแอสซานจ์อ้างถึงหลักกฎหมายละติน และอภิปรายถึงระบบตุลาการในยุโรป ระหว่างให้เหตุผลพยายามหว่านล้อมคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดทั้ง 7 ท่าน โดยดีนาห์ โรส หัวหน้าทีมทนายของแอสซานจ์ ตั้งคำถามต่อศาลว่า “อัยการสวีเดนมีอำนาจศาลที่จะออกหมายจับผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่”

ขณะนี้ ศาลสูงสุดในกรุงลอนดอนกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ หลังมีคำตัดสินให้แอสซานจ์นำคดีขึ้นสู่ศาลสูงสุดได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าคณะผู้พิพากษาจะใช้เวลาพิจารณาคำตัดสินนานอีกหลายสัปดาห์

โรสอ้างเหตุผลย้อนไปถึง “หลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ” เกี่ยวกับบทบาทของผู้พิพากษา ซึ่งมีบัญญัติในหลักกฎหมายสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ เมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว โดยอธิบายว่าไม่มีข้อไหนรับประกันว่าอัยการจะคงความเป็นกลางและเที่ยงธรรมได้เท่าเทียมกับผู้พิพากษา ดังนั้น การยินยอมให้อัยการเป็นผู้ออกหมายจับถือเป็น “การแทรกแซงเสรีภาพของบุคคลขั้นร้ายแรง”
ชื่อเสียงของจูเลียน แอสซานจ์ โด่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเขาจะปรากฏตัวในการ์ตูน “เดอะซิมป์สันส์” ตอนที่ 500 ปลายเดือนนี้ ขณะเดียวกัน แอสซานจ์เตรียมทำหน้าที่พิธีกรรายการทอล์กโชว์ ซึ่งจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์รัสเซีย ทูเดย์ (อาร์ที) ของรัสเซีย ช่วงเดือนมีนาคม
แคลร์ มอนต์โกเมอรี ทนายตัวแทนของทางการสวีเดน ได้เรียกร้องให้ศาลปฏิเสธคำอุทธรณ์นี้ พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า ภายใต้ระบบหมายจับสหภาพยุโรปอันรวบรัดที่สวีเดนต้องการตัวแอสซานจ์ คำว่า “อำนาจศาล” มีความหมายโดยกว้างและหมายรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาด้วย

วานนี้ ตลอดการพิจารณาคดีวันแรกตามกำหนด 2 วัน จูเลียน แอสซานจ์ ไม่ได้ลุกขึ้นให้การแม้แต่ครั้งเดียว

ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2011 ศาลชั้นต้นอังกฤษตัดสินให้ส่งตัวแอสซานจ์ข้ามแดนตามคำร้องของสวีเดน ต่อมา ศาลสูงอังกฤษก็ปฏิเสธคำร้องอุทธรณ์ของแอสซานจ์ในเดือนพฤศจิกายน ทว่า เขายังก็ได้รับอนุมัติให้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดเป็นเวทีสุดท้ายได้ หลังผู้พิพากษาเห็นว่าคดีนี้เป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ

หากศาลสูงสุดปฏิเสธคำร้องอุทธรณ์อีกครั้ง แอสซานจ์จะหมดทางต่อสู้คดีตามระบบศาลอังกฤษ แต่เขายังมีทางเลือกสุดท้ายด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (อีซีเอชอาร์) ทว่า หากเขาเป็นฝ่ายชนะคดี นั่นอาจกระทบถึงระบบการออกหมายจับสหภาพยุโรปทั้งหมด ซึ่งแอสซานจ์โต้แย้งว่า ผู้ออกหมายจับควรเป็นผู้พิพากษา ไม่ใช่อัยการ

จูเลียน แอสซานจ์ ปฏิเสธข้อกล่าวหาข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง 2 คน ในสวีเดน พร้อมทั้งยืนกรานมาตลอดว่า ความสัมพันธ์ทางเพศเป็นไปด้วยความสมัครใจ แอสซานจ์ยังอ้างถึงเหตุที่ผู้หญิงทั้งสองฟ้องร้องกล่าวโทษเขา ว่า มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง

อนึ่ง แอสซานจ์เคยแสดงความกังวลว่า หากถูกส่งตัวให้สวีเดน ในที่สุดแล้วเขาจะถูกส่งต่อให้สหรัฐฯ ซึ่งพลทหาร แบรดลีย์ แมนนิง กำลังถูกพิจารณาคดีจากศาลทหาร ข้อหาลักลอบส่งมอบเอกสารลับแก่เว็บไซต์วิกิลีกส์ ศัตรูของสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น