เทเลกราฟ - ไอชา กัดดาฟี บุตรสาวของพันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย ได้ร้องขอเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เพื่อให้การช่วยเหลือคดีของ ซาอิฟ อัล-อิสลาม พี่ชายของเธอซึ่งถูกจองจำอยู่ในลิเบียระหว่างรอการพิจารณาคดีฆาตกรรมช่วงสงครามกลางเมือง
บุตรสาวคนเดียวของกัดดาฟีต้องการส่งมอบข้อมูลถึงมือศาลไอซีซีเกี่ยวกับสวัสดิภาพของ ซาอิฟ อัล-อิสลาม ซึ่งถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
กลุ่มผู้สนับสนุนอัล-อิสลาม ซึ่งถูกจับขณะปลอมตัวเป็นชาวเบดูอินกลางทะเลทรายซาฮารา ตั้งแง่สงสัยถึงความเป็นธรรมในระบบศาลลิเบีย คนกลุ่มนี้ต้องการให้ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก เป็นผู้พิจารณาคดีของอัล-อิสลาม
หากศาลลิเบียเป็นผู้ตัดสิน ซาอิฟ อัล-อิสลาม อาจต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต ทว่า หากเป็นการพิพากษาของศาลกรุงเฮกแล้ว โทษหนักสุดก็คือจำคุก
ในเอกสารคำร้องถึงศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ ไอชา กัดดาฟี ตั้งข้อสังเกตว่า ทางการลิเบียไม่ยินยอมให้นักกฎหมายต่างชาติคนใดทำหน้าที่ช่วยเหลือซาอิฟ อัล-อิสลาม โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “ไอชา กัดดาฟี ประสงค์ที่จะปกป้องผลประโยชน์ของพี่ชาย” อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยถึงเนื้อหาในเอกสาร ซึ่งจะส่งถึงศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศเป็นการลับ
ทั้งนี้ ซาอิฟ อัล-อิสลาม เป็นบุตรชายที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดของกัดดาฟี เขาตกเป็นประเด็นโต้แย้งกันระหว่างรัฐบาลใหม่ของลิเบีย กับ ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ ว่า ใครควรเป็นผู้พิจารณาคดีของเขา
ด้านสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ (เอ็นทีซี) ของลิเบีย ระบุว่า อัล-อิสลามสมควรถูกพิจารณาคดีในลิเบียและศาลลิเบียจะให้ความเป็นธรรมแก่เขา ขณะเดียวกัน ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศก็ยืนกรานว่า อัล-อิสลามต้องถูกส่งตัวขึ้นศาลที่กรุงเฮก
ศาลไอซีซีมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากในช่วงสงครามกลางเมืองลิเบีย ไอซีซีได้ออกหมายจับ มูอัมมาร์ กัดดาฟี, ซาอิฟ อัล-อิสลาม และอับดุลเลาะห์ อัล-เซนุสซี หัวหน้าหน่วยข่าวกรองลิเบียในเวลานั้น ข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ กระทั่งกองกำลังกบฏสามารถโค่นล้มระบอบกัดดาฟีที่ปกครองลิเบียยาวนาน 42 ปีลงได้
เมื่อเดือนตุลาคม พันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี เสียชีวิตหลังถูกนักรบกบฏจับตัวได้บริเวณเมืองเซิร์ต ส่วนอับดุลเลาะห์ อัล-เซนุสซี หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของกัดดาฟี ก็ถูกจับตัวได้ในเวลาต่อมา แต่ไม่มีการเปิดเผยสถานที่
ขณะที่ปัจจุบัน ซาอิฟ อัล-อิสลาม ถูกคุมขังในเมืองซินตัน (Zintan) ฐานที่มั่นของกองกำลังติดอาวุธที่ออกตามล่าและจับตัวเขาได้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน
ส่วนไอชา กัดดาฟี พร้อมด้วย ซาฟิยา แม่ของเธอ และสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ได้ลี้ภัยออกจากลิเบียตั้งแต่ช่วงที่กบฏกำลังบุกยึดครองกรุงตริโปลี เมื่อเดือนสิงหาคม ทั้งหมดพักอาศัยอยู่ในสถานที่ลับในแอลจีเรีย ซึ่งรัฐบาลแอลเจียร์ยอมให้ครอบครัวกัดดาฟีลี้ภัยด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม