เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์(13) แสดงท่าทีกลับลำต่อความพยายามผลักดันของสหรัฐฯที่ต้องการเห็นชาติแห่งนี้งดนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน โดยรัฐมนตรีต่างประเทศบอกประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติจากเดิมที่ก่อนหน้านี้ได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกับวอชิงตันเพื่อกดดันเตหะรานให้ล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์
ไม่ทันถึง 24 ชั่วโมงหลังจาก จุน อะสึมิ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น บ่งชี้ว่าญี่ปุ่นจะดำเนินมาตรการรูปธรรมเพื่อลดการสั่งซื้อน้ำมันดิบตามคำเรียกร้องของสหรัฐฯ รัฐมนตรีต่างประเทศแดนปลาดิบกลับยืนยันว่ารัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่มีการตัดสินใจในเรื่องนี้
สหรัฐฯพยายามเพิ่มแรงกดดันแก่อิหร่านต่อโครงการนิวเคลียร์ และขู่คว่ำบาตรสถาบันการเงินต่างๆที่ทำธุรกิจกับธนาคารกลางของเตหะราน หวังบีบคั้นธุรกิจส่งออกน้ำมันอันสำคัญของอิหร่านเพื่อไม่ให้นำรายได้เหล่านั้นมาอุดหนุนกิจกรรมนิวเคลียร์
จีนปฏิเสธทำตามคำร้องขอ แต่ดูเหมือนวอชิงตันจะได้รับชัยชนะทางการทูตครั้งสำคัญระหว่างการเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯในวันพฤหัสบดี(12) เมื่อนายจุน อะสึมิ บอกว่าญี่ปุ่นที่เวลานี้นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านประมาณ 10% จะดำเนินมาตรการรูปธรรมเพื่อลดการสั่งซื้อน้ำมันดิบเหล่านี้ แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมันดิบจากอิหร่านนั้น ยังต้องขอเวลาระยะหนึ่งในการพิจารณาปรับลดการสั่งซื้อ
อย่างไรก็ตามในวันศุกร์(13) นายโคอิชิโร กัมบะ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นเผยว่าประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อยุติและยังมีความสงสัยต่อข้อเรียกร้องนั้น "สหรัฐฯ อยากให้มีมาตรการคว่ำบาตร แต่เราเชื่อว่ามีความเป็นจำเป็นอย่างมากที่เราต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบในประเด็นนี้ เราต้องมองเรื่องนี้อย่างระมัดระวังที่สุดและหาทางออกอย่างชาญฉลาด รัฐบาลกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาและเราในฐานะรัฐบาลจะมีจุดยืนร่วมกัน" นายกัมบะกล่าวปฏิเสธถึงความเห็นที่แตกแยกภายในคณะรัฐมนตรี
นายกัมบะบอกต่ออีกว่าตลอดช่วง 5 ปีหลัง ญี่ปุ่นได้ลดการพึ่งพาน้ำมันดิบของอิหร่านและเวลานี้สามารถลดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านเหลือประมาณร้อยละ10 จากปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
"เรากำลังพิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่หากมีการลดนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านเพิ่มเติม แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องรู้ก็คือการลดปริมาณนำเข้าน้ำมันใดๆก็จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบโดยปริยาย เมื่อรู้ดังนั้นคุณก็สามารถจินตนาการผลกระทบทางลบ(จากมาตรการนี้) และคงไม่ใช่แค่กับญี่ปุ่นเท่านั้น มันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วย"
กฎหมายมาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านระลอกล่าสุดของสหรัฐฯนั้น กำหนดให้ขับสถาบันการเงินของประเทศใดก็ตามที่ทำธุรกิจกับธนาคารกลางอิหร่าน ให้ออกไปจากตลาดอเมริกา ถึงแม้มีบทบัญญัติที่อาจพิจารณายกเว้นให้ หากมีความจำเป็นในเรื่องเสถียรภาพของตลาดพลังงาน หรือหากประเทศแม่ของสถาบันการเงินแห่งนั้นได้ลดการค้ากับอิหร่านเป็นจำนวนมาก
ทางอียูเปิดหมวกสนับสนุนสหรัฐฯ และเมื่อวันพุธ(11) คาดหมายว่าจะสามารถบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในช่วงสิ้นเดือน ส่วนทางเตหะรานขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ เส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญของโลกตอบโต้หากถูกคว่ำบาตรภาคธุรกิจพลังงาน