เอเอฟพี - สหรัฐฯ มีคำสั่งขับกงสุลใหญ่เวเนซุเอลา ณ เมืองไมอามี ออกนอกประเทศ ท่ามกลางข่าวลือที่ว่านักการทูตผู้นี้มีสวนพัวพันกับแผนโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ โดยอิหร่าน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลง วานนี้ (8)
ประกาศขับไล่กงสุลเวเนซุเอลามีขึ้น ในเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดีมะห์มูด อาห์มาดิเนจัด แห่งอิหร่านเดินทางเยือนละตินอเมริกา โดยเริ่มจากเวเนซุเอลาเป็นประเทศแรก
ระหว่างให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุและโทรทัศน์วานนี้ (8) ประธานาธิบดี ฮูโก ชาเบซ แห่งเวเนซุเอลาไม่ได้เอ่ยถึงการขับไล่กงสุล แต่กล่าวหาวอชิงตันว่า “กุเรื่อง” ที่อิหร่านวางแผนโจมตีผ่านทางประเทศในละตินอเมริกาอย่าง เวเนซุเอลา, นิการากัว และคิวบา
ชาเบซกล่าวด้วยว่า การที่สหรัฐฯ จะ “ห้ามไม่ให้ทุกประเทศเข้าใกล้อิหร่านนั้น เป็นเรื่องน่าขำ”
สถานทูตเวเนซุเอลา ณ กรุงวอชิงตันได้รับแจ้งตั้งแต่วันศุกร์ (6) ว่า ลิเวีย อคอสตา โนกูเอรา กงสุลใหญ่ ณ ไมอามี ถูกประกาศให้เป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ และต้องเดินทางออกจากสหรัฐฯภายในวันอังคาร (10) วิลเลียม ออสติก โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
“ตามมาตราที่ 23 ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล กระทรวงการต่างประเทศขอประกาศให้ นางสาวลิเวีย อคอสตา โนกูเอรา กุงสุลใหญ่แห่งเวเนซุเอลา ณ เมืองไมอามี เป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ ดังนั้น จึงให้เดินทางออกจากสหรัฐฯภายในวันที่ 10 มกราคม” ออสติกแถลง
“เรายังไม่สามารถเผยรายละเอียดเบื้องหลังการตัดสินใจประกาศให้นางสาวลิเวีย อคอสตา เป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ได้ในขณะนี้”
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯแถลงเมื่อเดือนที่แล้วว่า กำลังตรวจสอบข้อกล่าวหา “อันน่ารำคาญใจ” ที่ว่า อคอสตา มีส่วนพัวพันกับแผนโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้านความมั่นคงสหรัฐฯ
ข้อกล่าวหานี้มีต้นตอมาจากสารคดีซึ่งเผยแพร่สถานีโทรทัศนภาคภาษาสเปน “ยูนิวิชัน” ซึ่งเผยว่า มีเทปบันทึกเสียงขณะที่ อคอสตา กำลังหรือกับผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ชาวเม็กซิโก ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกับอิหร่าน
รายงานระบุว่า การติดต่อระหว่าง อคอสตา กับนักศึกษากลุ่มนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2007 ขณะที่ อคอสตา ยังเป็นเลขานุการโทประจำสถานทูตเวเนซุเอลา ณ กรุงเม็กซิโกซิตี
ในบทสนทนาตอนหนึ่ง อคอสตาขอให้นักศึกษา ฮวน คาร์ลอส มูนอส เลโด บอกที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐฯ ซึ่งเขาได้แจ้งแก่นักการทูตอิหร่านไปก่อนหน้านั้น และภายหลังเธอบอกกับมูนอสว่า ได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวแก่หน่วยงานความมั่นคงของชาเบซไปเรียบร้อยแล้ว
วันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า กระทรวงยังไม่อาจเชื่อถือรายงานของยูนิวิชันได้ แต่ “จะตรวจสอบ และประเมินมาตรการเสริมที่เราจะใช้ต่อไป”
ประธานาธิบดีชาเบซ ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ มานาน และพยายามคัดค้านความพยายามของวอชิงตันที่จะกดดันโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซีเรีย