xs
xsm
sm
md
lg

อ่าวเปอร์เซีย ระอุ!! สหรัฐฯลั่นไม่ยอมให้อิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทัพเรืออิหร่านซ้อมรบใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ ท่ามกลางคำขู่ปิดช่องแคบแห่งนี้ของเตหะรานเพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก
เอเอฟพี - สหรัฐฯเตือนอิหร่านเมื่อวันพุธ (28) จะไม่อดทนต่อความพยายามใดๆ ที่หมายสร้างความวุ่นวายแก่การขนส่งทางเรือในช่องแคบฮอร์มุซ หลังเตะหรานประกาศลั่นจะปิดเส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญของโลกนี้ตอบโต้ฝ่ายตะวันตก แซงชันลงโทษการส่งออกน้ำมันของประเทศ ขณะที่ผู้บัญชาการทหารเรือของเตหะรานก็สำทับว่า การปิดอ่าวเปอร์เซียไม่ให้เรือน้ำมันเข้าออก เป็นเรื่องที่ “ง่ายดายยิ่งกว่าดื่มน้ำสักแก้วหนึ่ง”

“การแทรกแซงใดๆ ต่อการขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบฮอร์มุซ คงไม่อาจยอมให้เกิดขึ้นได้” จอร์จ ลิทเทิล โฆษกของเพนตากอนกล่าวตามหลัง โมฮัมหมัด เรซา ราฮิมี รองประธานาธิบดีอันดับ 1 ของอิหร่าน ขู่ว่าจะปิดช่องแคบแห่งนี้ หากว่าเตหะรานถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรต่อโครงการนิวเคลียร์ของพวกเขาเพิ่มเติม ขณะที่กองทัพเรือของอิหร่านก็กำลังซ้อมรบในน่านน้ำสากลทางตะวันออกของช่องแคบ

ราฮิมี เตือนเมื่อวันอังคาร (27) ว่า “หากตะวันตกแซงชันการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน จะไม่มีน้ำมันแม้แต่หยดเดียวเคลื่อนย้ายออกจากช่องแคบฮอร์มุซ”

ท่ามกลางความกังวลต่อความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทางสหรัฐฯและสหภาพยุโรปกำลังชั่งใจถึงมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อภาคน้ำมันและภาคการเงินของเตหะราน

“การซ้อมรบอย่างเป็นกิจวัตรในบริเวณนี้ของอิหร่าน เป็นเรื่องที่เราทราบดีอยู่แล้ว” ลิตเติลกล่าว “เราบอกได้แต่เพียงว่าความพยายามใดๆ ที่หมายเพิ่มอุณหภูมิความตึงเครียดรอบๆช่องแคบฮอร์มุซ ไม่ก่อประโยชน์อันใดเลย”

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ยังไม่พบสัญญาณว่าอิหร่านกำลังเพิ่มระดับการยั่วยุใกล้ช่องแคบแห่งนี้ “เรายังไม่พบพฤติกรรมอันเป็นปกปัก และรุกรานใดๆ ต่อเรือรบของสหรัฐฯที่ประจำการในอ่าวเปอร์เซีย หรือช่องแคบฮอร์มุซ”

ก่อนการให้สัมภาษณ์ของ ลิตเติล นายฮาบิบโบลเลาะห์ ซายยารี ผู้บัญชาการทหารเรืออิหร่านบอกกับ เพรส ทีวี สถานีโทรทัศน์ภาษาอังกฤษของอิหร่าน ว่า การปิดอ่าวเปอร์เซียไม่ให้เรือน้ำมันเข้าออก เป็นเรื่องที่ “ง่ายดายยิ่งกว่าดื่มน้ำสักแก้วหนึ่ง” การแถลงเหล่านี้ทำให้เกิดความหวาดผวาเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงปลอดภัยของบริเวณที่ถือเป็นคอขวดสำคัญที่สุดในการขนส่งน้ำมันของโลก

“สำหรับกองทัพอิหร่านแล้ว การปิดช่องแคบฮอร์มุซเป็นเรื่องที่ง่ายดายจริงๆ … หรืออย่างที่ชาวอิหร่านชอบพูดกันว่า มันง่ายดายยิ่งกว่าดื่มน้ำสักแก้วหนึ่งเสียอีก” ฮาบิบโบลเลาะห์ ซายยารี ผู้บัญชาการทหารเรืออิหร่าน บอกกับเพรส ทีวี

“แต่สำหรับในตอนนี้ เรายังไม่จำเป็นต้องปิดช่องแคบฮอร์มุซหรอก เนื่องจากทะเลโอมานก็อยู่ในความควบคุมของเราแล้ว และเราสามารถควบคุมการเข้าออก (ของเรือน้ำมัน) ได้อยู่แล้ว” ซายยารี ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็นผู้นำการซ้อมรบของอิหร่านที่บริเวณช่องแคบฮอร์มุซเป็นเวลา 10 วัน กล่าวแจกแจงต่อ

ความตึงเครียดระหว่างตะวันตกกับเตหะรานเขม็งเกลียวขึ้นนับจากวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบอาวุธนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ รายงานว่า ดูเหมือนเตหะรานกำลังออกแบบสร้างระเบิดนิวเคลียร์ และอาจทำการวิจัยต่อจนบรรลุเป้าหมาย ถึงแม้ทางอิหร่านออกมาปฏิเสธและยืนยันว่าตนมีเพียงโครงการพลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น

อิหร่านนั้นยังคงขยายกิจกรรมนิวเคลียร์ตลอดมาแม้ถูกคว่ำบาตรจากยูเอ็นแล้ว 4 ครั้งตั้งแต่ปี 2006 ฐานที่ไม่ยอมระงับโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ตลอดจนไม่ยอมเปิดให้เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเข้าไปตรวจสอบ

นักการทูตและนักวิเคราะห์จำนวนมาก เชื่อว่า มีเพียงมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนใจอิหร่านได้ แต่รัสเซียและจีน สองประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของเตหะราน ขัดขวางการดำเนินการดังกล่าวในที่ประชุมยูเอ็น

คำเตือนของอิหร่านครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่เมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรสืบเนื่องจากรายงานฉบับดังกล่าวของยูเอ็น โดยที่ได้ร่างแผนสำหรับความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรน้ำมันจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบอันดับ 5 ของโลกแห่งนี้

ทั้งนี้ อียูนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน 450,000 บาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) หรือราว 18% ของการส่งออกของเตหะราน ซึ่งมีจำนวนมากที่ส่งไปยังจีนและอินเดีย

นอกจากนี้ จากข้อมูลของสำนักงานข้อมูลพลังงานของสหรัฐฯ (อีไอเอ) พบว่า 1 ใน 3 ของน้ำมันทั่วโลกที่ขนส่งทางทะเลในปี 2009 ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ โดยมีเรือรบของอเมริกตรวจการณ์รักษาความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าว

น้ำมันดิบส่วนใหญ่ที่ส่งออกจากซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และอิรัก ตลอดทั้งก๊าซธรรมชาติเหลวทั้งหมดจากผู้ส่งออกรายใหญ่ คือ กาตาร์ ล้วนแล้วต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้ากว้าง 6.5 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างโอมานกับอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคน อาทิ ฟิล ฟินน์ จากพีจีเอฟ เบสต์ รีเสิร์ชในชิคาโก ดักคอว่า อิหร่านคงต้องคิดหนักในการปิดช่องแคบ เพราะตัวเองก็อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักพอๆ กับชาติตะวันตกผู้นำเข้าน้ำมัน อีกทั้งยังเป็นการยั่วยุให้เกิดสงครามกับมหาอำนาจทางการทหารของโลก และแม้แต่พันธมิตรก็อาจเปลี่ยนใจเป็นศัตรูได้

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรม สำทับว่า ซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันเบอร์ 1 ของโลก และประเทศอ่าวอื่นๆ พร้อมส่งออกน้ำมันชดเชยหากอิหร่านถูกแซงก์ชันเพิ่มเติม แม้ รอสแตม กาเซมี รัฐมนตรีน้ำมันของเตหะราน เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ริยาดห์ให้คำมั่นว่าจะไม่ทำแบบนั้นก็ตาม

ความกลัวว่าซัปพลายน้ำมันจะติดขัด และกังวลกับการซ้อมรบของอิหร่านในเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนท์ที่ตลาดลอนดอนดีดขึ้นกว่า 1 ดอลลาร์ ทะลุ 109 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันอังคาร อย่างไรก็ดี ตัวแทนของโอเปก เชื่อว่า เรื่องนี้จะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่คิดว่าอิหร่านจะทำตามที่ขู่
กำลังโหลดความคิดเห็น