xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: เมื่อเกาหลีเหนือสิ้นผู้นำที่รัก “คิมจองอิล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อวันจันทร์ (19) ที่ผ่านมา โลกต้องตกตะลึงอีกครั้ง เมื่อทางการเกาหลีเหนืออกมาแถลงว่า คิมจองอิล ผู้นำสูงสุดของประเทศ วัย 69 ปีถึงแก่อสัญกรรม ด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันร่วมกับอาการหัวใจวาย เมื่อเวลา 8.30 น.ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม ระหว่างการเดินทางโดยรถไฟเพื่อไปมอบคำชี้แนะนอกสถานที่ โดยเป็นการประกาศที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่มีข่าวกรองของประเทศใดล่วงรู้มาก่อน แม้จะมีความเคลือบแคลงสงสัยกันมาโดยตลอดเกี่ยวกับสุขภาพของเขา ซึ่งเคยล้มป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2008 อีกทั้งยังมีกระแสข่าวว่า เขามีอาการไตวาย เบาหวาน และความดันโลหิตสูงด้วย โดยหลายๆ ฝ่ายต่างเป็นกังวลอย่างยิ่งว่าอนาคตของประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้จะเป็นเช่นไรต่อไป หากสิ้นผู้นำคิมแล้ว
ศพของผู้นำ คิมจองอิล ในชุดสีกากีอันเป็นสัญลักษณ์ของเขา บรรจุอยู่ในโลงแก้วประดับด้วยดอกไม้ ตั้งอยู่ภายในพระราชวังอนุสรณ์สถานกึมซูซานในกรุงเปียงยาง อันเป็นสถานที่ตั้งศพของคิมอิลซอง ผู้ก่อตั้งประเทศและบิดาของเขา
สำหรับผู้นำคิมนั้น เขาขึ้นปกครองดินแดนโสมแดงต่อจากประธานาธิบดีคิมอิลซอง ผู้เป็นบิดา และผู้ก่อตั้งประเทศ ในปี 1994 เขาสร้างฐานอำนาจด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างค่ายกักกัน เจริญรอยตามทุกลัทธิความเชื่อส่วนตัวที่ถ่ายทอดมาจากพ่อ ตลอดจนการอาศัยกองทัพขนาดใหญ่ โดยเขายังสามารถล้มความเชื่อที่ว่าเกาหลีเหนือจะล่มสลายจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา และพาประเทศผ่านพ้นความอดอยากยากแค้นรุนแรงในทศวรรษที่ 1990 ซึ่งคาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากวิกฤตนี้นับล้านคนไปได้ ทั้งยังได้ก่อตั้งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสร้างความหวั่นเกรงให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ ไปจนถึงชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ

ขณะที่เกาหลีเหนือถูกโดดเดี่ยว และกดดันจากนานาประเทศมากขึ้น ด้วยมาตรการคว่ำบาตรจากความดื้อดึงที่จะเดินหน้าโครงการขีปนาวุธ รวมถึงการทดลองนิวเคลียร์ในเดือนตุลาคม ปี 2006 และพฤษภาคม ปี 2009 อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศย่ำแย่อย่างหนัก แต่ผู้นำคิมก็ยังเร่งกระบวนการถ่ายโอนอำนาจ โดยพยายามโปรโมต คิมจองอึน ลูกชายคนเล็ก ให้ขึ้นเป็นทายาทการเมืองของเขาอย่างรีบร้อนเมื่อเดือนกันยายน ปี 2010 ที่ผ่านมา ประหนึ่งจะรู้ว่าเวลาของเขาใกล้หมดลงแล้ว

คิมจองอึน บุตรชายคนที่ 3 และยังเป็นลูกคนโปรดของผู้นำคิม ในวัย 28 ปี ได้รับการแต่งตั้งจากบิดาให้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายพลสี่ดาวของกองทัพโสมแดง และเป็นรองประธานของคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางของพรรคผู้ใช้แรงงานเกาหลี นับตั้งแต่นั้น เขาก็ปรากฏตัวเคียงข้างบิดาอยู่เสมอ และมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการด้านต่างๆ ของรัฐอย่างกระตือรือร้น ขณะที่สื่อทางการก็เริ่มอ้างอิงถึงเขาด้วยคำนำหน้าว่า “ท่านนายพลคิม” แต่ยังไม่เรียกเขาว่าเป็นผู้สืบทอดอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งแถลงการณ์เกี่ยวกับการอสัญกรรมของผู้นำคิมออกมา สำนักข่าวเคซีเอ็นเอจึงเริ่มเรียกเขาว่า “ทายาทสืบทอดผู้ยิ่งใหญ่” ซึ่งถือเป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาคือผู้นำคนใหม่ของเกาหลีเหนือนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ผู้นำคนใหม่ของแดนโสมแดงอายุยังน้อยมาก และอ่อนประสบการณ์ ทำให้เกิดข้อกังขาถึงความพร้อมในการเป็นประมุขของรัฐคอมมิวนิสต์แห่งนี้ แม้ผู้ใกล้ชิดเคยเผยว่า เขามีคุณสมบัติของความเป็นผู้นำอย่างแข็งแกร่งที่สุดในหมู่พี่ชายน้องชาย 3 คน แต่สิ่งสำคัญที่เขายังขาดไปนั้นคือ กระแสโฆษณาเชิดชูยอยกความเก่งกาจประดุจเทพเฉกเช่นเดียวกับพ่อ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ท่านผู้นำที่รัก” และปู่ของเขา ซึ่งถูกยกว่าเป็น “ผู้นำตลอดกาล”
แฟ้มภาพ ผู้นำคิม (ขวาสุด) และ คิมจองอึน (ที่ 2 จากซ้าย) บุตรชาย และทายาทสืบทอดผู้ยิ่งใหญ่ ปรากฏตัวในการเดินพาเหรดของกองทัพเพื่อฉลองก่อตั้งเกาหลีเหนือครบ 63 ปี เมื่อ 9 กันยายนที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้น แหล่งข่าววงในใกล้ชิดทั้งฟากเปียงยาง และฝั่งปักกิ่งยังระบุว่า จองอึนจะต้องแบ่งสรรอำนาจกับอาเขย จางซองแท็ก วัย 65 ปี รองประธานของคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรทรงอำนาจอย่างยิ่งในเกาหลีเหนือ ผู้ที่ถูกจับตามองว่าคืออำนาจที่อยู่หลังบัลลังก์ของผู้นำคนใหม่ และจะมี คิมกยองฮี ภรรยาของเขาซึ่งเป็นน้องสาวของ คิมจองอิล คอยเคียงข้าง เช่นเดียวกับ รียองโฮ ดาวรุ่งในฝ่ายทหารเกาหลีเหนือ และเป็นนายพลอาวุโสที่สุดของกองทัพในเวลานี้ด้วย ส่งสัญญาณความเป็นไปได้ว่า อาจมีการแย่งชิงอำนาจเกิดขึ้นในเวลาต่อไป แต่ก็มีแนวโน้มสูงว่ากองทัพจะหนุนหลังทายาทผู้สืบทอดรายนี้อย่างแน่นอน

ในระหว่างช่วงเวลาการถ่ายโอนอำนาจหลังสิ้นผู้นำคิมนั้น หลายฝ่ายต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ประเทศเพื่อนบ้านที่ในทางเทคนิคแล้วยังคงเป็นคู่สงครามกันนับจากที่ความขัดแย้งในปี 1950-1953 สิ้นสุดลง โดยรัฐบาลโซลได้เรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ และประกาศให้กองทัพเตรียมการอย่างเต็มพิกัด พร้อมเพิ่มการเฝ้าระวังบริเวณแนวชายแดนร่วมกับทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ในประเทศ เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะของญี่ปุ่น ที่สั่งการให้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ความมั่นคงบริเวณชายแดน ส่วนประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯ ก็ได้โทรศัพท์หารือกับประธานาธิบดีลีมยองบัคของเกาหลีใต้ โดยเห็นพ้องกันที่จะร่วมมือควบคุมสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ให้เป็นปกติ ขณะที่ประเทศอื่นๆ นอกจากส่งสาสน์แสดงความเสียใจต่อเปียงยางแล้ว ก็ยังหวังการเปลี่ยนถ่ายอำนาจภายในโสมแดงนั้นจะเป็นไปอย่างสันติ และมั่นคง ด้านจีน ในฐานะพันธมิตรใหญ่เพียงชาติเดียวของเปียงยางก็แสดงท่าทีหนุนทายาทผู้สืบทอดของคิมจองอิลให้ขึ้นเป็นผู้นำใหม่โสมแดงอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครองของเกาหลีเหนือนั้นเป็นที่คาดหวังอย่างยิ่งว่าจะทำให้การเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ 6 ฝ่าย ที่มี 2 ชาติเกาหลี สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย ซึ่งหยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2009 หลังโสมแดงถอนตัวออกจากที่ประชุม มีความคืบหน้า โดยที่เกาหลีเหนือ ซึ่งมีท่าทีแข็งกร้าวมาโดยตลอดว่าจะไม่ยอมล้มเลิกโครงการปรมาณู แม้ถูกคว่ำบาตร หรือตัดความช่วยเหลือทางด้านอาหารขณะที่ประชาชนอดอยากก็ตามนั้นจะอ่อนข้อลงบ้างภายใต้ผู้นำคนใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดฟันธงได้ว่า คิมจองอึนจะเจริญรอยตามพ่อและปู่ของเขาทุกกระเบียดนิ้วหรือไม่ กาารถ่ายโอนอำนาจครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและจับตามองอย่างยิ่ง.
ชาวเกาหลีเหนือนับล้านคนต่างร่ำไห้แสดงความโศกเศร้าเสียใจกับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ ท่านผู้นำที่รัก ในกรุงเปียงยาง
กำลังโหลดความคิดเห็น