เอเจนซี - สหายร่วมชั้นเรียนเผยชีวิตวัยเด็กของ คิม จอง อึน บุตรชายคนเล็กของผู้นำเผด็จการ คิม จอง อิล และว่าที่ผู้นำรุ่นที่ 3 แห่งเกาหลีเหนือ เป็นเพียงเด็กที่เรียนหนังสือไม่เอาไหน และหมกมุ่นแต่เกมคอมพิวเตอร์กับกีฬาบาสเกตบอลเท่านั้น
จอง อึน วัย 28 ปี ก้าวออกจากเงาของบิดามาปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ในพิธีเฉลิมฉลอง 65 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ
ขณะที่ทั่วโลกคาดหวังอยู่ลึกๆ ว่า ความรู้และค่านิยมแบบตะวันตกที่เขาได้รับสมัยยังเป็นนักเรียนในสวิตเซอร์แลนด์ อาจช่วยให้ชายหนุ่มผู้นี้มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยมากกว่าผู้เป็นพ่อ และนำพาเกาหลีเหนือกลับคืนสู่เวทีนานาชาติ หลังเก็บตัวโดดเดี่ยวอยู่ในความยากจนมานานหลายสิบปี
อย่างไรก็ตาม สัญญาณที่ปรากฏในขณะนี้นับว่าไม่สู้ดี เพราะแม้ คิม ผู้พ่อจะยอมทุ่มเงินหลายแสนปอนด์เพื่อซื้อโอกาสให้บุตรชายได้ร่ำเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์ แต่ คิม จอง อึน กลับไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน แม้กระทั่งประกาศนียบัตรพื้นฐานระดับมัธยม (GCSE)
ผู้นำคิม ตัดสินใจพา จอง-อึน ซึ่งมีอายุได้เพียง 15 ปี ลาออกจากโรงเรียนนานาชาติเมืองเบิร์นซึ่งมีค่าเทอมถึงปีละ 16,000 ปอนด์ (ราว 780,000 บาท) มาเรียนที่โรงเรียนรัฐบาลอีกแห่งซึ่งอยู่ใกล้กันเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และปรากฏว่า จอง-อึน เป็นเด็กที่เรียนอ่อนกว่าเพื่อนร่วมชั้น
จอง อึน ในชุดยีนส์ชิคาโกบูลส์ และรองเท้าไนกี ถูกพามาแนะนำตัวกับเพื่อนร่วมชั้น 6เอ ของโรงเรียน ลีเบอเฟลด์-สไตน์ฮอลซี โดยครูประจำชั้นโกหก ว่า “หนุ่มสาวทั้งหลาย นี่คือ อึน ปั๊ก เขามาจากเกาหลีเหนือ และเป็นลูกชายของนักการทูต”
คิม จอง อึน ได้ที่นั่งว่างข้างๆ โจอาว ไมคาเอโล (Joao Micaelo) บุตรชายของนักการทูตโปรตุเกส ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน
โจอาว ซึ่งปัจจุบันทำอาชีพพ่อครัว เล่าให้ฟังว่า “เราไม่ใช่พวกสมองทึบที่สุดในห้องหรอกนะครับ แต่ก็ไม่เก่งที่สุด เราอยู่ในระดับกลางๆ”
“อึน พยายามแสดงความคิดเห็น แต่เขาไม่เก่งภาษาเยอรมัน และจะอึกอักเสมอเวลาที่ครูตั้งคำถาม พวกครูพอเห็นว่าเขาพูดจาตะกุกตะกักจนน่าอาย ก็จะเปลี่ยนไปถามนักเรียนคนอื่นแทน”
“เขาลาออกไปโดยไม่ผ่านการทดสอบอะไรเลย เขาสนใจฟุตบอลกับบาสเก็ตบอลมากกว่าตำราเรียน”
จอง อึน ซึ่งเคยถูกจับได้ว่าซ่อนหนังสือโป๊ไว้ในกระเป๋านักเรียน เป็นแฟนตัวยงของ ไมเคิล จอร์แดน และเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลตัวฉกาจคนหนึ่ง
เขาถนัดวิชาคณิตศาสตร์เป็นพิเศษ แต่อ่อนในวิชาอื่นๆ ทั้งหมด เพื่อนร่วมเรียนหลายคนยังจำได้ว่า จอง อึน ต้องเรียนพิเศษเสริมอยู่เสมอ
เพื่อนของ จอง อึน จากโรงเรียนนานาชาติ เล่าว่า “เมื่อปี 1993 ตอนที่เขาเข้าเรียนใหม่ๆ ภาษาอังกฤษของเขาแย่มาก สำเนียงแข็งทื่อ จึงต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติม”
“เขาเรียนภาษาเยอรมันด้วย และก็ถือว่าโอเคในขั้นพื้นฐานทั้ง 2 ภาษา แต่แค่โอเคเท่านั้นนะครับ เขาพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าภาษาเยอรมัน”
“เขาเก่งคณิตศาสตร์ครับ ฟังดูเหมือนเป็นเด็กเนิร์ดใช่ไหม...แต่เปล่าเลย วิชาอื่นเขาไม่ได้เรื่องหมด ผมว่าลับหลังเราน่าจะเรียกเขาว่า ดิม จอง-อึน (Dim Jong-un) ด้วยซ้ำ แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็หายไป”
แหล่งข่าวจากโรงเรียนเก่า ระบุว่า ผู้นำคิม คงรู้สึกเหนื่อยหน่ายที่จะต้องเสียเงินเป็นค่าการศึกษาแก่บุตรชายโดยไม่ได้ประโยชน์ แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้ ก็คือ จอง-อึน เริ่มจะหลงใหลวัฒนธรรมอเมริกันมากเกินไป
สถานทูตเกาหลีเหนือในกรุงเบิร์น จะส่งรายนามเพื่อนฝูงและสิ่งที่มีอิทธิพลกับ จอง-อึน กลับมาให้ผู้นำคิมและหัวหน้าหน่วยข่าวกรองในกรุงเปียงยางได้รับทราบเสมอ
โจอาว เล่าว่า “เรามักใช้เวลาช่วงบ่ายๆ ด้วยกัน และเขายังชวนผมไปกินข้าวที่บ้านบ่อยๆ เขามีพ่อครัวส่วนตัวคอยทำอาหารทุกอย่างที่เขาอยากทาน”
“เขามีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างที่เด็กคนอื่นๆ ไม่มี ทั้งโทรทัศน์, เครื่องบันทึกวีดีโอ, เกมเพลย์สเตชั่นของโซนี่, พ่อครัวส่วนตัว, คนขับรถส่วนตัว, ครูส่วนตัว”
“หลังเลิกเรียนเราจะมาเจอกันที่สนามบาสเก็ตบอล ผลัดกันสวมบทเป็น ไมเคิล จอร์แดน พวกเราอิจฉามากที่เห็นเขามีลูกบาสเกตบอล เอ็นบีเอ ของแท้ ซึ่งราคาไม่ต่ำกว่า 100 ปอนด์ (ราว 4,800 บาท)”
“เราเคยคุยกันเรื่องผู้หญิงและแผนการใหญ่ในอนาคต ช่วงสุดสัปดาห์จะมีปาร์ตีซึ่งพวกเราเด็กๆ ที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์มาล้อมวงก๊งเหล้ากัน แต่ผมไม่เคยเห็นเขาแตะต้องแอลกอฮอล์เลย และไม่สนใจสาวๆ ด้วย”
“เขาพูดถึงชีวิตที่บ้านเกิดน้อยมาก แต่ผมดูออกว่าเขาคงคิดถึงบ้าน เขาจะฟังแต่เพลงเกาหลีเหนือเท่านั้น ไม่ฟังเพลงตะวันตกเลย”
“ที่ฟังบ่อยที่สุดเห็นจะเป็นเพลงชาติเกาหลีเหนือ ซึ่งผมน่าจะได้ฟังมาแล้วสัก 1,000 ครั้ง ผมรู้จักเขาด้วยนามแฝงมาตลอด จนกระทั่งบ่ายวันอาทิตย์วันหนึ่ง ซึ่งเขากำลังจะเดินทางกลับเกาหลีเหนือ”
“เขานำรูปถ่ายของเขากับพ่อมาให้ผมดู และสารภาพว่า 'เราไม่ใช่ลูกชายนักการทูต แต่เราเป็นลูกชายของประธานาธิบดีแห่งเกาหลีเหนือ'”
เจ้าหน้าที่โรงเรียนคนหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า “เจิร์ก” (Joerg) เล่าว่า “เราเคยตั้งกลุ่มเสวนากันหลังเลิกเรียน... คืนนั้นเราพูดถึงภาระหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย, การใช้สิทธิเลือกตั้ง, ความสำคัญของการแสดงความคิดเห็น อะไรทำนองนี้”
“เขาไม่เคยมาร่วมวงสนทนาเลย เอาแต่ก้มหน้าก้มตา และมีท่าทีกระวนกระวาย”
“ตอนนั้นเองที่ผมนึกถึงนวนิยายเสียดสีสังคมเรื่อง “ฟาร์มสรรพสัตว์” (Animal Farm) ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ซึ่งบอกว่า สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน แต่มีบางตัวที่เท่าเทียมมากกว่าตัวอื่น”