xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: มวลชนรัสเซียประท้วงกลโกงเลือกตั้ง สะดุ้งแผนปูตินยึดอำนาจยาวอีก 12 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนรัสเซียหลายหมื่นคนชุมนุมคัดค้านผลการเลือกตั้งสภาดูมา บริเวณจัตุรัสโบลอตนายา กรุงมอสโก หลังมีเสียงครหาหนาหูว่า รัฐบาลยอมทำทุกวิธีทาง ไม่เว้นแม้แต่การโกง เพื่อให้ได้ชัยชนะ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงคราวนั่งไม่เป็นสุขอีกต่อไปสำหรับวลาดิมีร์ ปูติน บุรุษเหล็กแห่งรัสเซีย หลังคลื่นมวลชนจำนวนมากออกมาชุมนุมต่อต้าน อันเป็นผลมาจากข้อครหาเรื่องการโกงเลือกตั้งสภาล่าง (สภาดูมา) ซึ่งสื่อตะวันตกยกให้เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ทั้งนี้ ฝ่ายตรงข้ามที่เคยแตกเป็นสามก๊ก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวเก่า กลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง และกลุ่มเสรีนิยมที่ฝักใฝ่ตะวันตก ต่างวางความแตกต่างไว้เบื้องหลัง ผนึกกำลังเป็นเสียงเดียว ต่อต้านผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พร้อมทั้งยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งใหม่ที่โปร่งใสสุจริต

การประท้วงเริ่มขึ้นตั้งแต่ยังไม่ปิดคูหาเลือกตั้ง และทันทีที่มีกระแสข่าวการโกงผลเลือกตั้งจากคลิปวิดีโอหลายชิ้นที่ปรากฏบนโลกอินเตอร์เน็ต และจากฝ่ายค้านที่โพนทะนาเรื่องการปิดกั้นการตรวจสอบของรัฐบาล ประชาชนผู้ไม่พอใจก็เริ่มชุมนุมจากจำนวนหลักพัน ก่อนมีการชุมนุมใหญ่ผ่านการนัดหมายทางเฟซบุ๊ก วันที่ 10 ธันวาคม ในเมืองสำคัญๆ ทั่วรัสเซีย เพิ่มเป็นหลักหมื่นซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงอ้างว่า อาจแตะถึงหลักแสนคน ขณะที่ทางการรัสเซียระบุตัวเลขผู้เข้าร่วมไว้ที่ 25,000 คน

แต่ใช่มีเพียงการชุมนุมต่อต้านเท่านั้น กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ของปูตินก็ออกมาชุมนุมเช่นกัน โดยเฉพาะการ์ดยุวชนกลุ่มต่างๆ ที่ชุมนุมฉลองชัยชนะการเลือกตั้งกันในจัตุรัสแดง กรุงมอสโก แม้คะแนนเสียงของรัฐบาลตกลงจาก 64% ในการเลือกตั้งปี 2007 เหลือ 49% ในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างน่าใจหาย

กรณีความไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้ง สำนักข่าวเรียโนโวสตีของเครมลินเองก็รายงานยอมรับว่า พบเหตุทุจริตมากกว่า 1,100 คดี เช่น การข่มขู่ให้เลือกพรรครัฐบาล การขัดขวางองค์กรอิสระไม่ให้เข้าเข้าสังเกตการณ์ ขณะเดียวกัน คลิปวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือปรากฏบนโลกอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก ผู้โพสต์คลิปเหล่านี้อ้างว่า เป็นภาพบันทึกการโกงเลือกตั้งด้วยการให้ประชาชนใช้ปากกาหมึกที่ลบได้ในคูหา การยึดบัตรลงหีบ หรือการปลอมบัตรลงคะแนน

มิหนำซ้ำด้วยเหตุบังเอิญหรือประการใด ในช่วงวันเลือกตั้ง เว็บไซต์ข่าวของสื่อฝั่งตรงข้ามรัฐบาลถูกแฮกจนระบบล่มเป็นแถบๆ คล้อยหลังการเลือกตั้ง บรรณาธิการระดับอาวุโสของนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ “คอมเมียร์ซันต์ วลัสต์” (Kommersant Vlast) ซึ่งมีอลิเชียร์ อุสมานอฟ มหาเศรษฐีอันดับ 5 ของรัสเซีย เป็นเจ้าของ ก็ถูกไล่ออก หลังตีพิมพ์รูปภาพโจมตีปูติน และวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างรุนแรง

สารพัดชนวนชวนสงสัยเหล่านี้ทำให้ชาวรัสเซียที่จำนวนมากไม่เคยร่วมชุมนุมมาก่อนในชีวิต อดรนไม่ทนไม่ไหวแห่แหนกันมาชุมนุมล้นหลาม ประชาชนในภูมิภาคตะวันออกไกล ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมในไซบีเรียหรือเทือกเขาอูราล ต่างก็แสดงเสียงคัดค้านพร้อมเพรียงกัน เป็นสัญญาณว่า การกลับมาของปูตินครั้งนี้คงไม่ง่ายนัก

สำหรับสถานการณ์การประท้วงใหญ่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ณ กรุงมอสโก ทางการรัสเซียอนุญาตให้ประชาชนชุมนุมในบริเวณจัตุรัสโบลอตนายา (Bolotnaya Square) ซึ่งสื่อหลายสำนักประเมินว่า มีมวลชนเข้าร่วมประมาณ 60,000 คน การประท้วงส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความสงบ โดยมีแกนนำฝ่ายค้าน นักเคลื่อนไหวทางสังคม หรือกลุ่มนักข่าว ขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีการจัดเลือกตั้งของรัฐบาลกันถ้วนหน้า ตลอดการชุมนุม มีตำรวจและเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลประมาณ 50,000 นาย ประจำการคุมเข้ม ขณะผู้ชุมนุมตะโกนว่า “ไม่เอาปูติน”
กลุ่มยุวชนพรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ก็ชุมนุมสนับสนุนนายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน ไม่ให้น้อยหน้าฝ่ายต่อต้าน
การชุมนุมครั้งนี้ยังเป็นบันทึกหน้าใหม่ของภูมิภาคต่างๆ โดยในเมืองโนโวซีบีสค์ (Novosibirsk) เมืองใหญ่อันดับ 3 ของรัสเซีย ศูนย์กลางภูมิภาคไซบีเรีย มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 5,000 คน และเมืองเชเลียบินสค์ (Chelyabinsk) ศูนย์อุตสาหกรรมทางตอนเหนือในเขตเทือกเขาอูราล ก็มีผู้ชุมนุมประมาณ 5,000 คน เช่นกัน ขณะที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองใหญ่อันดับ 2 มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 10,000 คน นอกนั้น ยังมีการชุมนุมในเมืองเล็กๆ อีกจำนวนหลายสิบเมืองทั่วประเทศ โดยทุกๆ เวทีชุมนุมมีการปราศรัยเรียกร้องการเลือกตั้งครั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม ก็มีรายงานการจับกุมผู้ประท้วงทั่วประเทศ ตั้งแต่วันเลือกตั้งแล้วประมาณ 1,000 คน

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องสำคัญของผู้ประท้วงสรุปได้ดังนี้ 1. ปล่อยตัวนักโทษการเมือง 2. ประกาศให้ผลการเลือกตั้งวันที่ 4 ธันวาคม เป็นโมฆะ 3. สอบสวนกรณีการโกงเลือกตั้ง และปลด วลาดิมีร์ ชูรอฟ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกจากตำแหน่ง 4. รับจดทะเบียนพรรคการเมืองฝ่ายค้านเพิ่มเติม 5. จัดการเลือกตั้งใหม่ที่เสรีและสุจริต

นักวิเคราะห์การเมืองเห็นตรงกันว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเตอร์เน็ตสร้างปัญหาหนักอกให้กับนักยุทธศาสตร์การเมืองในทำเนียบเครมลิน หลังจากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถควบคุมสื่อหลักๆ ไว้ในกำมือ และเผยแพร่สารที่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ได้

อนึ่ง นอกเหนือจากปัญหาโกงการเลือกตั้งแล้ว ในสายตาคอการเมืองรัสเซีย การประกาศลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ของวลาดิมีร์ ปูติน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จุดชนวนความไม่พอใจของประชาชน เมื่อถึงวันนั้นตัวประธานาธิบดีดมิตรี เมดเวเดฟ จะขยับลงมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน หลังรับหน้าที่ประธานาธิบดีรักษาการแทนปูตินที่ติดเงื่อนไขห้ามครองบัลลังก์ผู้นำเครมลินติดต่อเกิน 2 วาระ ทว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาสำหรับปูตินอีกต่อไป ในเมื่อเมดเวเดฟฝากผลงานชิ้นโบว์แดงไว้ด้วยการแก้กฎหมายให้ ประธานาธิบดีครองตำแหน่งสมัยละ 6 ปี จากเดิม 4 ปี นั่นหมายความว่า ปูตินสามารถครองอำนาจตั้งแต่ปี 2012 ไปอีก 12 ปี

ท่ามกลางเสียงคัดค้านผสมโรงกับเสียงประท้วงที่ดังเรื่อยๆ หลายฝ่ายยังปักใจเชื่อว่า ปูตินจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 4 มีนาคม 2012 แบบสบายๆ แม้เกนนาดี้ ซูกานอฟ จากพรรคคอมมิวนิสต์ และเซร์เกย์ มิโรนอฟ จากพรรคอะ จัตส์ รัสเซีย คู่แข่ง 2 รายสำคัญ ได้คะแนนกระเตื้องขึ้นมาจากการเลือกตั้งสภาดูมา ล่าสุด มิคาอิล โปรโครอฟ มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของรัสเซีย เพิ่งประกาศตัวเป็นคู่แข่งหน้าใหม่ของปูติน ทว่า สื่อภายในรัสเซียวิเคราะห์ว่า การลงสนามการเมืองของโปรโครอฟ เจ้าของทีมบาสเกตบอล “นิวเจอร์ซีย์ เน็ตส์” ในศึกเอ็นบีเอสหรัฐฯ เป็นแผนของรัฐบาลที่ต้องการให้เศรษฐีหน้าหยกคนนี้ลงมาตัดคะแนนคู่แข่งคนอื่นๆ หากรัฐบาลเครมลินถึงขั้นต้องลงทุนลงแรงเช่นนั้นจริง แสดงว่าปูตินคงสะดุ้งสะเทือนไม่น้อยกับพลังต่อต้านที่แสดงออกผ่านคะแนนนิยมที่ลดฮวบฮาบ และการประท้วงของมวลชนในครั้งนี้
ปูตินจ้องมองหีบบัตรเลือกตั้งอย่างมีเลิศนัย พร้อมทั้งข้อความระบุว่า “ชัยชนะของพรรคยูไนเต็ด (รัสเซีย) จอมยัดบัตรคะแนน” บนหน้าปกนิตยสารคอมเมียร์ซันต์ วลัสต์ ฉบับที่ทำให้บรรณาธิการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงถูกเด้งออกจากตำแหน่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น