xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ซัมมิตอียูปลอบตลาดแค่ชั่วคราว นักลงทุนยังผวาอีก'วิกฤตไร้ทางแก้'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้ถ้อยแถลงของนางอังเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมี ณ ที่ประชุมซัมมิตอียูเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว แสดงถึงความคืบหน้าสำคัญในการกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต่อการป้องกันวิกฤตหนี้ในอนาคต แต่ตลาดการเงินดูจะมองว่า ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นเล็กน้อยเกินไปและล่าช้าเกินกว่าจะแก้ปัญหาในปัจจุบันได้
เอเจนซี - แม้ซัมมิตอียูเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วมีความคืบหน้าสำคัญในการกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต่อการป้องกันวิกฤตหนี้ในอนาคต แต่ตลาดการเงินดูจะมองว่า ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นเล็กน้อยเกินไปและล่าช้าเกินกว่าจะแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ และเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านๆมา มาตรการเหล่านี้คงจะทำให้นักลงทุนสงบอยู่ได้ไม่นานนัก

ผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ปิดฉากการประชุมสุดยอดในวันศุกร์(9) ด้วยการเห็นชอบครั้งประวัติศาสตร์ที่จะทำการร่างสัญญาฉบับใหม่เพื่อการรวมตัวในมิติที่ลึกขึ้นภายในยูโรโซน แต่นักวิเคราะห์และผู้วางนโยบายจำนวนมากยังสงสัยว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ซึ่งเป็นขั้นตอนระยะยาว จะสามารถแก้ไขวิกฤตที่เขย่ายุโรปมา 2 ปีได้หรือไม่

แม้นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล ไม่คาดว่า บรรดาผู้นำยุโรปจะต้องกลับมาหารือกันอีกครั้งก่อนคริสต์มาส แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสของอียูกลับเห็นว่า แรงกดดันในตลาดจะบีบให้ผู้นำอียูกลับมาถกกันจนได้ในเร็วๆ นี้

ปฏิกิริยาจากตลาดการเงินในช่วงเช้าวันจันทร์(12)ของยุโรป ปรากฏว่าค่าเงินยูโรอ่อนตัวลง ขณะที่ราคาหุ้นพากันร่วง และพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีและสเปนต่างต้องจ่ายอัตราผลตอบแทนสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในวันศุกร์ ผู้นำของอียูยกเว้นอังกฤษ ตกลงอัดฉีดเงินกู้ 200,000 ล้านยูโรให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อเป็นการสนับสนุนไอเอ็มเอฟในการช่วยเหลือพวกชาติยูโรโซนที่ประสบปัญหา และเห็นชอบเปิดตัวกองทุนฟื้นฟูถาวรที่ใช้ชื่อว่า กลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (European Stability Mechanism หรือ อีเอสเอ็ม) ในกลางปีหน้า นั่นคือก่อนกำหนดหนึ่งปี

ขั้นตอนเหล่านี้ รวมถึงกองทุนฟื้นฟูอันเดิม ที่มีชื่อว่า กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility หรือ อีเอฟเอสเอฟ) ซึ่งจะได้รับการขยายให้มีสมรรถนะเพิ่มขึ้นด้วย ต่างเป็นมาตรการที่อียูตั้งความหวังว่าจะทำให้มีความสามารถเพิ่มพูนขึ้นอีกมาก ในการเข้าช่วยเหลือประเทศยูโรโซนที่มีปัญหา โดยเฉพาะกรณีของ อิตาลี และสเปน ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 และ 4 ของกลุ่ม ที่กำลังถูกตลาดการเงินบีบคั้นจนอาจต้องยอมรีไฟแนนซ์ภาระหนี้สินของพวกตน ตามหลัง กรีซ, ไอร์แลนด์, และโปรตุเกส

เฉพาะอิตาลีรายเดียวมีหนี้สินภาคสาธารณะ 150,000 ล้านยูโร ที่ถึงกำหนดชำระระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนปีหน้า

กระนั้น ยังอีกหลายเดือนกว่าที่อีเอสเอ็มจะมีผลบังคับใช้ ขณะที่ดูเหมือนมีนักลงทุนระหว่างประเทศน้อยรายมากที่เต็มใจลงทุนในอีเอฟเอสเอฟ โดยเฉพาะในเมื่อ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) ซึ่งขู่ลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศเกือบทั้งหมดในยูโรโซน ยังทำท่าจะลดเครดิตเรตติ้งของอีเอฟเอสเอฟอีกด้วย และดังนั้นกองทุนนี้จึงน่าจะมีเงินไม่เพียงพอต่อความต้องการ

มาร์คัส เรนแวนด์ จากเฮลาบา มองว่า รูปแบบซัมมิตอียูที่ผ่านมามีแนวโน้มเกิดขึ้นซ้ำ นั่นคือราคาหุ้นจะดีดขึ้นก่อนการประชุมเพื่อถอยรูดลงมาหลังจากนั้น

อีกประเด็นที่บ่อนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนคือ มติหลายประการจากที่ประชุมซัมมิตคราวนี้ ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลของแต่ละชาติ เพราะจากอดีตที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยสำหรับพวกผู้นำยุโรป ในการทำให้ภายในบ้านพวกเขาเองตกลงเห็นพ้องกับข้อสรุปที่พวกเขาได้จากการเจรจาในบรัสเซลส์

ความไม่แน่นอนในลักษณะเช่นนี้ ได้แก่ แผนการที่จะประกาศใช้อีเอสเอ็มให้เร็วขึ้น 1 ปี, การยอมรับกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ทางการคลังอันเข้มงวดโดยที่จะต้องทำให้กลายเป็นกฎหมายของแต่ละประเทศ, และรายละเอียดวิธีระดมทุน 200,000 ล้านยูโรให้ไอเอ็มเอฟเพื่อเพิ่มกระสุนต่อสู้วิกฤตของยุโรป ตัวอย่างเช่นประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วจะร่วมสมทบด้วยหรือไม่ และหากไม่ จะจัดการอย่างไรกับจำนวนที่ขาดหายไป

เจอร์เก้น สตาร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง โดยมีข่าวว่า เพราะไม่เห็นด้วยกับแผนการซื้อพันธบัตรของอีซีบีนั้น มองว่า การเพิ่มบทบาทของไอเอ็มเอฟในคราวนี้ เป็นการบ่งชี้ถึงความสิ้นหวัง

การนำพันธบัตรอิตาลีและสเปนออกขายในสัปดาห์นี้จะเป็นบททดสอบอารมณ์ความรู้สึกของตลาดครั้งสำคัญครั้งแรกหลังซัมมิต โดยคาดว่าต้นทุนการกู้ยืมของโรมจะพุ่งขึ้นทำสถิติ นอกจากนี้ เยอรมนียังมีแผนเปิดประมูลพันธบัตรระยะ 2 ปีเร็วๆ นี้เช่นเดียวกัน

ดัชนีบ่งชี้ตัวแรกจะสำแดงผลในวันจันทร์และอังคาร (12-13) ในการเปิดประมูลขายพันธบัตรระยะสั้นของอิตาลี สเปน และฝรั่งเศส ก่อนการเปิดประมูลพันธบัตรที่มีความท้าทายกว่าเป็นอันดับต่อไป

**บทบาทของธนาคารกลางยุโรป**
หลังการประชุมสุดยอดคราวนี้ที่ถูกมองว่าเป็นซัมมิตชี้ชะตาว่าจะ “อยู่หรือไป” สายตาทุกคู่ยังคงจับจ้องไปที่อีซีบี ทว่าในซัมมิตครั้งนี้ก็ยังยังไร้คำตอบเกี่ยวกับบทบาทในอนาคตของสถาบันแห่งนี้ โดยที่เบอร์ลินยังคงนำขบวนขัดขวางไม่ให้อีซีบีเข้าอุ้มประเทศยูโรโซนที่มีปัญหา อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นักวิเคราะห์คาดหวังให้อีซีบีแสดงบทบาทสำคัญในการสนับสนุนตลาด ด้วยการให้ความมั่นใจว่าการประมูลขายพันธบัตรในสัปดาห์หน้าจะราบรื่น แต่อีซีบีกลับยังคงยืนกรานว่าจะไม่ขยายการรับซื้อพันธบัตรของชาติยูโรโซนที่มีปัญหาในปริมาณที่สูงขึ้นกว่าที่เคยทำมา โดยมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี ออกมาดับความหวังในการขยายบทบาทของแบงก์ไม่กี่ชั่วโมงก่อนซัมมิตวันศุกร์ (9)

แหล่งข่าววงในเผยว่า อีซีบีจะยึดมั่นกับขีดจำกัดที่ตั้งขึ้นเองในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในยูโรโซนสัปดาห์ละไม่เกิน 20,000 ล้านยูโร ซึ่งเป็นระดับที่จนถึงขณะนี้อีซีบีก็ยังทำไม่ค่อยจะถึง

นายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติของอิตาลี ให้สัมภาษณ์ในวันอาทิตย์(11) พยายามมองการณ์ในแง่ดีว่า ที่สุดแล้วเยอรมนีและประเทศอื่นๆ จะเห็นพ้องว่า การออกพันธบัตรร่วมยูโรโซนเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ในการจัดการวิกฤตหนี้ ขณะที่ฝรั่งเศสมองแง่ดีพอกันว่า แบงก์พาณิชย์ที่ขณะนี้สามารถขอรับสินเชื่อระยะ 3 ปีจากอีซีบี อาจเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของชาติยูโรโซนเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ลุยจิ สเปอแรนซา จากบีเอ็นพี ปาริบาส์ มองว่า แม้อีซีบียังมีช่องทางเพิ่มการซื้อพันธบัตรจำนวนมาก แต่ตลาดยังคงเป็นห่วงที่อีซีบีไม่ยอมรับปากว่าจะรับบทบาทเพิ่มในการแก้ไขวิกฤต โดยเฉพาะหลังจากที่ดรากีออกมาแสดงท่าทีเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น