เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ - ผู้บริหารระดับสูง 6 คน ของโรงพยาบาลเอเอ็มอาร์ไอในเมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย ถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันเสาร์ (10) ที่ผ่านมา ฐานฆาตกรรม และละเมิดกฎเกณฑ์การป้องกันอัคคีภัยขั้นพื้นฐาน หลังเกิดเหตุไฟไหม้โรงพยาบาล ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คน เหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ติดอยู่ภายในอาคาร และสิ้นใจจากการสำลักควันไฟ
ผู้ต้องหาทั้งหกเป็นตัวแทนบริหารที่มาจากบริษัท 2 แห่ง ซึ่งถือครองโรงพยาบาลเอเอ็มอาร์ไอร่วมกัน หากศาลพิพากษาให้ผิดจริงตามข้อกล่าวหา บรรดาผู้บริหารเหล่านี้อาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี
ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 คน จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม พร้อมกันนั้น ผู้พิพากษายังมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้บริหารคนที่ 7 ขึ้นศาลโดยเร็วที่สุด หลังเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บจากเหตุไฟไหม้ สำนักข่าวเพรสส์ ทรัสต์ ออฟ อินเดีย รายงาน
จาเวด ข่าน หัวหน้าหน่วยดับเพลิงของรัฐเบงกอลตะวันตก เสนอความเห็นผ่านเอเอฟพีว่า เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะการละเลยไม่เอาใจใส่ และละเมิดต่อบรรทัดฐานความปลอดภัยขั้นร้ายแรง “ปี 2008 โรงพยาบาลแห่งนี้เคยเกิดเพลิงไหม้มาแล้วครั้งหนึ่ง เรากำลังสืบว่าทางการต่ออายุใบอนุมัติมาตรฐานป้องกันอัคคีภัยให้โรงพยาบาลได้อย่างไร”
รายงานของบีบีซีนิวส์ระบุว่า ทางการเคยมีหนังสือเตือนโรงพยาบาลเอเอ็มอาร์ไอ กรณีมาตรฐานความปลอดภัยในชั้นใต้ดินเมื่อเดือนกันยายน แต่ก็ไม่มีการปรับปรุงแก้ไข ส่วนสำนักข่าวเพรสส์ ทรัสต์ ออฟ อินเดีย รายงานว่า โรงพยาบาลเอเอ็มอาร์ไอไม่มีประตูหนีไฟ และสัญญาณเตือนภัยก็ไม่สามารถใช้งานได้
มามะตา บาเนอร์จี มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตก ยืนยันว่า ผู้รับผิดชอบโรงพยาบาลต้องได้รับโทษรุนแรงที่สุด
ทั้งนี้ เพลิงไหม้เริ่มปะทุขึ้นเวลาประมาณ 03.00 น. ของเช้าตูร่วันศุกร์ (9) ควันพิษลอยโขมงทั่วชั้นต่างๆ โดยผลการสืบสวนเบื้องต้นระบุว่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้มีสาเหตุมาจาก “ไฟฟ้าลัดวงจร” บริเวณชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นห้องเก็บถังออกซิเจน ท่อพลาสติก สารเคมี และเครื่องมือแพทย์
นักผจญเพลิงทุบกระจกนำตัวผู้ป่วยที่มีทั้งหมด 160 ชีวิต ออกมาได้เพียงบางส่วน ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า สัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบดับเพลิงฉุกเฉินไม่ทำงาน ขณะเดียวกัน เซน หัวหน้าทีมสืบสวน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เหยื่อทุกคนเสียชีวิตจากการสำลักควันไฟ ซึ่งลอยเข้าสู่บริเวณห้องพักผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 4 คน
อีกมุมหนึ่ง ชิวานี มนดัล ชาวชุมชนสลัมวัย 60 ปี ที่อยู่ข้างโรงพยาบาล เล่าว่า “เราได้ยินเสียงผู้ป่วยร้องขอความช่วยเหลือ ตอนนั้น หน่วยดับเพลิงยังมาไม่ถึง แต่ยามไม่ยอมให้พวกเราเข้าไปในโรงพยาบาล … สุดท้าย พวกเด็กวัยุร่นก็ใช้บันไดไม้ไผ่ปีนช่วยคนที่พอจะช่วยได้”
สุบราตา มุขเคอร์จี รัฐมนตรีฝ่ายกิจการสาธารณสุขของรัฐเบงกอลตะวันตก เปิดเผยหลังเกิดเหตุว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของโรงพยาบาลหนีเอาตัวรอด โดยไม่สนใจผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่กำลังหลับอยู่