เอเอฟพี - ขณะมวลน้ำมหาศาลไหลบ่ามาถึงหน้าด่านตอนเหนือของกรุงเทพฯ บ้านของนางอรุณีย์ นิลแก้ว ในเขตดอนเมือง ก็มีน้ำทะลักขึ้นออกจากท่อและพื้น กระทั่งท่วมมิดชั้นล่าง หนึ่งเดือนผ่านไป ระดับน้ำยังคงสูงไม่เปลี่ยนแปลง ซ้ำร้ายยังกลายเป็นน้ำเน่าเหม็น แหล่งเพาะพันธุ์แมลงนานาชนิด
หลายสัปดาห์ที่ต้องทนอาศัยอยู่เหนือน้ำที่คงระดับนิ่ง ส่งกลิ่นเหม็นเน่า ในห้องเล็กๆ บนชั้นสองของบ้าน ห้องเล็กๆ ห้องนี้เป็นที่พักพิงสำหรับอรุณีย์ สามีที่เป็นเบาหวาน แม่สามีที่แก่ชรา และหลานชายอีกหนึ่งคน ทุกคนต่างอยู่ในภาวะสิ้นหวัง
นางอรุณีย์เล่าว่า เธอตื่นขึ้นมาตอนเช้าด้วยความรู้สึกสิ้นหวังแบบเดิมในทุกๆ วัน “ฉันเฝ้าถามตัวเองว่า เมื่อไร เมื่อไร น้ำจะลดเสียที?”
วิกฤตอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี คร่าชีวิตผู้ประสบภัยชาวไทยไปแล้วไม่ต่ำกว่า 600 ราย แม้ในหลายพื้นที่แห้งสนิทดีแล้ว แต่ผู้คนอีกจำนวนมากในหลายๆ เขตของกรุงเทพฯ ยังคงต้องทนกับความชอกช้ำระกำใจต่อไป
ถนนรอบบ้านของนางอรุณีย์ นิลแก้ว ยังคงมีน้ำมีดำคล้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ผิวน้ำก็เต็มไปด้วยขยะลอยเกลื่อน และประกายแวววาวจากคราบน้ำมัน เรือกลายเป็นพาหนะเดียวเท่านั้นที่สามารถสัญจรได้
ชาวดอนเมืองตัดพ้อผ่านสำนักข่าวเอเอฟพีว่า รัฐบาลลืมพวกเขา เพราะมัวพะวงแต่การป้องกันห้างสรรพสินค้า และตึกระฟ้ากลางใจเมือง
ขณะมวลน้ำไหลลงใต้ รัฐบาลมีคำสั่งตั้งแนวกระสอบทราย “บิ๊กแบ็ก” ป้องกันน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ วิธีนี้ช่วยป้องกันพื้นที่ชั้นใน แต่ต้องแลกด้วยความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ตอนเหนือและฝั่งตะวันตก เมื่อระดับน้ำจะยังไม่ลดลง แม้บ้านละแวกนี้ถูกน้ำท่วมมาตั้งแต่เดือนตุลาคม
ชีวิตคนกลางเมืองส่วนใหญ่กลับคืนสู่ภาวะปกติ ถนนกลับมามีรถราวิ่งคับคั่ง ส่วนกระสอบทรายจำนวนหลายพันหลายหมื่นลูกที่ตั้งป้องกันอาคารกลางเมืองกลับกลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะ “เกินความจำเป็น” ทว่า ความโกรธแค้นของคนในพื้นที่ประสบภัยกำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ รายงานเรื่องการประท้วงและการทลายแนวบิ๊กแบ๊กปรากฏเป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน
“ฉันดูข่าวจนจะบ้าตาย ในเมืองแทบจะแห้งสนิท ส่วนที่นี่ไม่มีใครสักคนเข้ามาดูเลยว่าน้ำมันสูงแค่ไหน รัฐบาลไม่เคยสนใจ ไม่เคยดูแลเรา” นางอรุณีย์ นิลแก้ว ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวเอเอฟพีจากบ้านที่น้ำท่วมสูงในเขตดอนเมือง
ในพื้นที่ประสบภัยหลายแห่ง ผิวน้ำสีดำคล้ำเต็มไปด้วยแมลงตัวเล็กตัวน้อย จิ้งจกไต่ไปมาตามผนังบ้านที่ขึ้นรา ท่ามกลางความมืดมิด ฝูงยุงจำนวนมหาศาลก็ออกหากินทุกซอกทุกมุม
“เราไม่คิดว่าน้ำจะท่วมสูงขนาดนี้ เราไม่คิดว่ามันจะท่วมนานขนาดนี้ เรากำลังเดือดร้อนหนัก มันหนักหนาสาหัสจริงๆ ค่ะ และเราก็ไปไหนไม่ได้” นางอรุณีย์เปิดใจ
ในวัย 48 ปี นางอรุณีย์ นิลแก้ว เคยมีรายได้จุนเจือครอบครัวจากการขายของชำ และขนมนมเนย ทว่า ตั้งแต่น้ำท่วมเธอก็ขายของไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น สามีและแม่สามีของเธอก็ออกจากบ้านไม่ได้ แต่ด้วยเงินที่ลูกชายส่งให้ทุกคนจึงยังดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ละวันที่ผ่านไป บ้านนี้ทำได้เพียงนอนและดูโทรทัศน์อยู่ในห้องเล็กๆ บนชั้นสอง
นายอนุโรจน์ ใจสะอาด เพื่อนบ้านของอรุณีย์กล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้เลวร้ายที่สุดเท่าที่เขาอยู่ในเขตดอนเมืองมานานกว่า 20 ปี
“นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ ไม่ใช่เพราะภัยธรรมชาติ ต้องมีคนรับผิดชอบเรื่องนี้ ต้องมีคนถูกตำหนิ”
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยประกาศว่า พื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ รอดพ้นน้ำท่วมแน่นอน แต่อรุณีย์ฝากผ่านเอเอฟพีขอร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำอะไรมากกว่านี้
“ฉันอยากให้นายกฯ ช่วยให้คนจนกลับมาทำงานได้ มันแย่มากที่ต้องอยู่อย่างนี้ อยู่โดยไม่มีใครมาช่วย เราถูกลืม หมู่บ้านของเราถูกลืม”
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีกลาโหม ประกาศความมั่นใจว่า ทุกพื้นที่จะแห้งสนิทก่อนถึงปีใหม่ และขอให้ทุกคนอดทน อย่างไรก็ตาม สำหรับนางอรุณีย์ นิลแก้ว และเพื่อนบ้านของเธอ น้ำที่ท่วมยาวไปอีกหนึ่งเดือนอาจเป็นบททดสอบถึงขีดจำกัดในความอดทนอดกลั้นของเธอ