xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นมะกันและน้ำมันดิ่งแรงผวาวิกฤตหนี้ลามสู่เยอรมนี-ศก.จีนชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซี - ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งแรงวานนี้ (23) หลังนักลงทุนขวัญผวาต่อภาคการผลิตที่ชะลอตัวในจีนและข่าวเยอรมนีขายพันธบัตรไม่ได้ตามเป้าได้เติมเชื้อความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ในยุโรปอันเป็นคู่ค้าสำคัญของอเมริกา และสองปัจจัยนี้ก็ฉุดให้ราคาน้ำมันปิดลบแรงเช่นกัน แม้มีข้อมูลบ่งชี้ว่าอุปสงค์ภายในชาติบริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลกยังแข็งแกร่งก็ตาม

ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ลดลง 232.08 จุด (2.02 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 11,261.64 แนสแดค ลดลง 60.86 จุด (2.41 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,460.42 เอสแอนด์พี ลดลง 25.89 จุด (2.18 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,162.15

ทิศทางของตลาดเมื่อวันพุธ (23) เคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบตลอดทั้งวัน หลังจากพันธบัตรอายุ 10 ปีของเยอรมนี ชาติเศรษฐกิจหมายเลข 1 ของยุโรปที่ถูกมองว่าเป็นเหมือนมาตรฐานที่นำมาเป็นตัวเปรียบเทียบหนี้ยูโรโซน ระดมทุนได้เพียง 3.889 พันล้านยูโร ต่ำกว่าเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ที่ 6 พันล้านยูโร อยู่กว่า 30% ซึ่งอุปสงค์ที่อ่อนแอนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ยูโรโซนเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน วอลล์สตรีทยังถูกซ้ำเติมด้วยตัวเลขกิจกรรมการผลิตแดนมังกรที่ลดต่ำทำสถิติในรอบ 32 เดือน กระตุ้นเตือนให้เกิดความกลัวรอบใหม่ว่า มหาอำนาจแห่งเอเชียกำลังเสียศูนย์ ท่ามกลางปัญหามากมายที่รุมเร้าเศรษฐกิจโลก

ธนาคารเอชเอสบีซีเปิดเผยเมื่อวันพุธ (23) ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) เบื้องต้นของจีนประจำเดือนพฤศจิกายนลดลงอยู่ที่ 48 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับจากเดือนมีนาคม 2009 และลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 51

ทั้งนี้ ดัชนีที่สูงกว่า 50 หมายความว่าภาคการผลิตมีการขยายตัว แต่หากต่ำกว่า 50 หมายถึงกิจกรรมการผลิตหดตัว สำหรับรายงานขั้นสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนนั้นจะเปิดเผยออกมาในวันที่ 1 ธันวาคม

ปัจจัยข้างต้นยังฉุดให้ราคาน้ำมันขยับลงอย่างแรงวานนี้ (23) แม้รัฐบาลสหรัฐฯ เผยว่าสต๊อกน้ำมันดิบของประเทศลดลงอย่างมากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บ่งชี้ถึงอุปสงค์ทางพลังงานที่ยังแข็งแกร่ง

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนมกราคม ลดลง 1.84 ดอลลาร์ ปิดที่ 96.17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 1.95 ดอลลาร์ ปิดที่ 106.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ข้อมูลทางเศรษฐกิจในจีนและเยอรมนีกดดันจนราคาน้ำมันไม่สามารถพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้ แม้กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ เผยในรายงานประจำสัปดาห์ระบุว่าคลังน้ำมันดิบสำรองของประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วลดลงถึง 6.2 ล้านบาร์เรล เหลือเพียง 330.8 ล้านบาร์เรล ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ8
กำลังโหลดความคิดเห็น