เอเอฟพี - ทางการบราซิลสั่งปรับ บริษัท เชฟรอน ผู้สำรวจน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นเงิน 28 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 870 ล้านบาท) วานนี้ (21) กรณีมีน้ำมันรั่วไหลจากการเจาะสำรวจ นอกชายฝั่งรัฐรีโอเดจาเนโร พร้อมกันนี้ มีเสียงเตือนถึงค่าปรับอีกจำนวนมหาศาลที่เชฟรอนต้องชดใช้
สำหรับค่าปรับก้อนแรกนี้ การ์ลอส มินก์ เลขาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐรีโอเดจาเนโร เปิดเผยว่า สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติบราซิลมีคำสั่งปรับเงินบริษัทเชฟรอน 28 ล้านดอลลาร์ และจำนวนค่าปรับทั้งหมดที่เชฟรอนต้องจ่ายอาจสูงถึง 56 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) ขณะเดียวกัน เอดิสัน โลบาโอ รัฐมนตรีพลังงานบราซิล ประกาศมั่นจะดำเนินมาตรการที่แข็งกร้าวที่สุดต่อการกระทำของเชฟรอน
ทั้งนี้ บ่อน้ำมันที่เป็นปัญหาตั้งอยู่ห่างจากรัฐรีโอเดจาเนโรไปทางตะวันออกเฉียงตอนเหนือ ประมาณ 370 กิโลเมตร ในอาณาบริเวณที่เป็นเส้นทางสัญจรของวาฬและปลาโลมา ขณะที่เชฟรอนอ้างว่า น้ำมันเริ่มรั่วไหลเมื่อเกือบ 3 สัปดาห์ที่แล้ว
อารอลโด ลิมา ผู้อำนวยการสำนักงานน้ำมันแห่งชาติบราซิล กล่าวว่า เชฟรอนกำลังจะถูกสั่งปรับอีกหลายระลอก แต่ละก้อนอาจมีมูลค่า 28 ล้านดอลลาร์ โทษฐานแจ้งข้อมูลเท็จหรือไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำมันรั่ว
นอกเหนือการเหตุน้ำมันรั่วจากบ่อสำรวจน้ำมันของเชฟรอน ทางการบราซิลกล่าวหาเชฟรอน กรณีเผยแพร่ข้อมูลเท็จในการเสนอแผนรับมือเหตุน้ำมันรั่ว ซึ่งมีการอ้างถึงเครื่องมือที่ไม่มีอยู่จริงในบราซิล รวมถึงการเผยแพร่ภาพความเสียหายที่ผ่านการแต่งภาพให้ดูไม่เลวร้ายเท่ากับความเป็นจริง
นอกจากนี้ อิซาเบลลา เตย์เซย์รา รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมบราซิล ก็ออกมาระบุว่า อาจมีการสั่งปรับเชฟรอนอีกกระทงหนึ่ง หากพิสูจน์ได้ว่า มีการละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม ส่วนทางการรัฐรีโอเดจาเนโรก็เตรียมเรียกค่าเสียหายจากเชฟรอนเช่นกัน
เชฟรอนอาจถูกสั่งห้ามเจาะสำรวจน้ำมันในบราซิลเป็นเวลา 5 ปี การ์ลอส มินก์ กล่าวเพิ่มเติม
อนึ่ง สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติบราซิลเปิดเผยว่า มีน้ำมันรั่วไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว ประมาณ 5,000-8,000 บาร์เรล ขัดแย้งกับข้อมูลของเชฟรอนที่ระบุว่า มีน้ำมันรั่วไหลเพียง 2,400 บาร์เรล เท่านั้น ทว่า ข้อมูลของทางการบราซิลก็ยังไม่เลวร้ายเท่าการประเมินของกลุ่มกรีนพีซ ซึ่งอ้างอิงภาพถ่ายผ่านดาวเทียม โดยระบุว่า มีน้ำมันรั่วไหลมากถึง 3,700 ล้านบาร์เรล ต่อวัน
การ์ลอส ปาสกัล ทูตพิเศษด้านพลังงานระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลของกรุงวอชิงตันต่อเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตน้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโก ในความรับผิดชอบของบริษัทบีพี เมื่อปี 2010