เอเอฟพี - กัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ส่วนใหญ่ไหลลงสู่ทะเล และกำลังแพร่กระจายไปตามมหาสมุทรต่างๆ ทั่วโลก นักวิจัยญี่ปุ่นเผย วันนี้ (17)
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า รังสีซีเซียมร้อยละ 80 ที่ถูกปลดปล่อยจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ได้ไหลลงมหาสมุทรแปซิฟิก และจะถูกกระแสน้ำพัดพาไปยังมหาสมุทรอื่นๆ ทั่วโลก
“รังสีที่เหลือจะตกค้างอยู่บนแผ่นดิน” ในจังหวัดฟูกูชิมะและพื้นที่ใกล้เคียง ฮิโรชิ ทากาฮาชิ จกาสถาบันวิจัยใน จ.อิบารากิ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโตเกียวกล่าว
“ดังนั้น มหาสมุทรจึงมีการปนเปื้อนสูงกว่าแผ่นดิน แม้ข้อมูลล่าสุดจะชี้ให้เห็นว่าปริมาณรังสีในน้ำทะเลยังไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายกับมนุษย์ก็ตาม” ทากาฮาชิเผย
นักวิจัยระบุว่า สารกัมมันตรังสี เช่น ซีเซียม-137 ซึ่งเป็นไอโซโทปที่มีครึ่งชีวิตยาวนานถึง 30 ปี จะแพร่กระจายอย่างกว้างขวางเมื่อลงสู่มหาสมุทร และอนุภาคของมันจะมีขนาดเล็กกว่า 1 ไมโครเมตร ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 7 ของเม็ดเลือดแดงของมนุษย์
ภาพจำลองจากคอมพิวเตอร์ชี้ให้เห็นว่า กัมมันตภาพรังสีถูกกระแสน้ำพัดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ สู่ภาคตะวันออกของรัสเซียและรัฐอะแลสกา จากนั้นจึงกลับลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก และไปถึงชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯประมาณวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ทากาฮาชิ กล่าว
นักวิจัยยังเชื่อว่า รังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะได้แพร่กระจายไปรอบโลกแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวจะถูกนำเสนอในการประชุมวิชาการที่เมืองนาโงยา เร็วๆ นี้
ผลวิจัยชิ้นก่อนๆ ซึ่งรวมถึงงานวิจัยในฝรั่งเศสเมื่อเดือนที่แล้ว สรุปตรงกันว่า รังสีส่วนใหญ่ได้ละลายปนไปกับน้ำทะเล และนอกจากอันตรายที่จะเกิดต่อสิ่งมีชีวิตใกล้แนวชายฝั่งแล้ว ก็ยังไม่มีสิ่งอื่นที่น่ากังวล