xs
xsm
sm
md
lg

'จีน'มองข้ามช็อตเตรียมรับสถานการณ์หลัง'ยูโรโซน'แตก

เผยแพร่:   โดย: อันโตอาเนตา เบคเกอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China looks at life after euro
By Antoaneta Becker
09/11/2011

จีนกำลังตำหนิตักเตือนสหภาพยุโรปที่ “โยนหลักการของตัวเองทิ้งลงถังขยะ” เรื่องนี้ถือเป็นการหักเลี้ยวกลับ 180 องศาจากอดีตเพียงเมื่อไม่นานมานี้เอง ซึ่งประดาเจ้าหน้าที่ของอียูในกรุงบรัสเซลส์ต่างหากที่เที่ยวเลกเชอร์สั่งสอนปักกิ่งในเรื่องการบริหารจัดการเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้พออกพอใจอยู่เพียงแค่การปรับเปลี่ยนบทบาทแบบกลับตาลปัตรเช่นนี้เท่านั้น หากแต่ยังกำลังเร่งวางแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือในกรณีที่เขตยูโรโซนเกิดแตกออกเป็นเสี่ยงอีกด้วย

ปักกิ่ง – ถ้าหากชาวจีนที่เป็นพวกมุ่งกล่าวโทษระบบประชาธิปไตยเสรีนิยม และการพัฒนาตลาดอย่างไม่บันยะบันยัง ยังคงต้องการวัตถุดิบเพิ่มเติมสำหรับใช้โจมตีเล่นงานฝ่ายตะวันตกแล้ว พวกเขาก็ย่อมสามารถมองหาเลือกหยิบเอาได้อย่างมากมายจากละครตลกร้ายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในกรีซเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ทว่านอกเหนือจากพาดหัวข่าวตามสื่อมวลชนจีนที่ประกาศ “การล่มสลายของยุโรป” แล้ว ก็แทบไม่ปรากฏอารมณ์ความรู้สึกแห่งชัยชนะทางด้านอุดมการณ์อะไรอีก ตรงกันข้ามปักกิ่งเวลานี้กลับมุ่งสาละวนกับการวางแผนฉุกเฉินด้านต่างๆ เพื่อใช้รับมือเมื่อถึงคราที่เขตยูโรโซนเกิดแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ตลอดจนมุ่งดูดซับเก็บรับบทเรียนจากการทำตัวเป็นรัฐสวัสดิการอย่างล้นเกินของยุโรป

ในอดีตที่ผ่านมาปักกิ่งต้องตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง เมื่อพยายามมุ่งรักษาเสถียรภาพทางสังคมของตนเอาไว้เหนือสิ่งอื่นใดแม้กระทั่งจะหมายถึงการเหยียบย่ำทำลายสิทธิเสรีภาพของพลเมืองก็ตามที มาในบัดนี้แน่นอนทีเดียวที่ปักกิ่งย่อมไม่ยอมพลาดโอกาสที่จะหัวเราะเย้ยหยันกรุงบรัสเซลส์เอาบ้าง จากการที่สหภาพยุโรป (อียู) กลับกำลังกลายเป็นผู้ป่าวร้อง “มนตราแห่งเสถียรภาพ” เสียเองอยู่ในขณะนี้

“การล่มสลายของยุโรปเป็นสิ่งที่ไม่อาจแก้ไขได้แล้ว” เป็นคำประกาศที่ปรากฏอยู่ในบทบรรณาธิการฉบับวันจันทร์ (7) ของหนังสือพิมพ์ “สารธุรกิจศตวรรษที่21” (21st Century Business Herald) บทบรรณาธิการนี้บอกว่า แทนที่ยุโรปจะยอมรับความเป็นจริงที่ว่ากรีซนั้นล้มละลายแล้วและจะไม่สามารถชำระหนี้สินของตนได้อีกต่อไปแล้ว ยุโรปกลับ “โยนหลักการของตัวเองทิ้งลงถังขยะไปเสียฉิบ”

การที่ “เสถียรภาพผงาดอยู่เหนือหลักการ” เช่นนี้ คือสัญญาณอีกประการหนึ่งของ “การเสื่อมทรามลงไปในด้านจิตวิญญาณของยุโรป” บทบรรณาธิการชิ้นนี้ตอกย้ำ

จวบจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง เป็นบรัสเซลส์ต่างหากที่คอยเล็กเชอร์สั่งสอนปักกิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจ แต่ในบัดนี้พวกผู้นำจีนกลับมองเห็นว่าเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องตักเตือนตำหนิสหภาพยุโรป แม้กระทั่งก่อนหน้าการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี-20 ที่เมืองคานส์ในช่วงต้นเดือนนี้ซึ่งประสบความล้มเหลวอย่างน่าอับอายเสียอีก พออียูแสดงให้สาธารณชนเห็นอย่างชัดเจ้งแทงตาว่าไร้ความสามารถที่จะเดินตามแผนการกู้ภัยยูโรโซนซึ่งพวกเขาเองสู้อุตส่าห์จัดทำขึ้นมาอย่างลำบากลำบน นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ของจีนก็ได้ออกโรงส่งเสียงตักเตือนด้วยถ้อยคำที่ดุดันไม่น้อย

“ภารกิจเร่งด่วนที่สุดคือจะต้องดำเนินมาตรการอย่างเฉียบขาดเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้สินขยายตัวออกไปอีก จะได้ทำให้ตลาดการเงินสามารถหลีกเลี่ยงจากภาวะปั่นป่วนผันผวน ตลอดจนหลีกเลี่ยงภาพวเศรษฐกิจถดถอย และการกระเพื่อมแกว่งตัวแรงของเงินยูโร” เวินบอกกับประธานสภายุโรป (European Council President) เฮอร์มาน ฟาน รอมปุย (Herman Van Rompuy) ระหว่างที่เขาต่อโทรศัพท์ไปพูดคุยด้วยเมื่อปลายเดือนตุลาคม คำวิจารณ์เช่นนี้ของนายกรัฐมนตรีจีน ฟังแล้วชวนให้รู้สึกขึงขังเคร่งเครียด เพราะมันแตกต่างเป็นตรงกันข้ามกับที่ปักกิ่งได้เคยพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนหน้านี้ว่า มีความเชื่อมั่นว่ายุโรปจะสามารถฟันฝ่าเอาชนะปัญหาของพวกเขาได้

“นอกเหนือจากมาตรการเร่งด่วนต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้แล้ว กุญแจสำคัญที่สุดก็คือจะต้องทำการปฏิรูปทางการคลังและทางการเงินถึงขั้นตลอดทั้งระบบและลงลึกถึงระดับพื้นฐาน” เวินกล่าวกับรอมปุยในอีกตอนหนึ่ง ทั้งนี้ตามรายงานที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศจีน

ยิ่งหลังจากการประชุมซัมมิตที่เมืองคานส์ด้วยแล้ว ปักกิ่งแสดงท่าทีเหมือนกับได้สูญเสียความเชื่อมั่นเสียแล้วว่าบรัสเซลส์ยังมีน้ำยาเพียงพอที่จะดำเนินการปฏิรูปขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นต้องกระทำ การประชุมสุดยอดกลุ่มจี-20 คราวนี้ตอนแรกเริ่มทีเดียวมุ่งหมายที่จะให้เป็นเวทีสำหรับการแก้ไขปรับแต่งแผนกู้ภัยยูโรโซนที่อียูจัดทำออกมากันเป็นขั้นสุดท้าย และเกลี้ยกล่อมชักชวนให้บรรดาเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อย่างเช่นจีน โอนอ่อนยอมควักเอาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอันมากมายมหาศาลของพวกเขาออกมา เพื่อให้เป็นทุนสำหรับแผนการกู้ชีวิตของยุโรปดังกล่าวข้างต้น แต่แล้วทุกอย่างก็วุ่นวายและพังครืนไปหมดจากการที่ จอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีกรีซในขณะนั้นเกิดประกาศตูมขึ้นมาในตอนนั้นว่า เขาจำเป็นต้องจัดการลงประชามติให้ประชาชนชาวกรีกตัดสินว่ายอมรับแผนการช่วยเหลือที่อียูกำหนดออกมาหรือไม่

ซัมมิตจี-20 ปิดฉากลงในวันที่ 4 พฤศจิกายนโดยที่ปราศจากผลที่เป็นรูปธรรมใดๆ เลย ถึงแม้ในเวลาต่อมา ปาปันเดรอู ยอมยกเลิกแนวความคิดที่จะจัดการลงประชามติ อีกทั้งเขายังเป็นฝ่ายชนะในการลงมติไว้วางใจของรัฐสภา ทว่าความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นแล้ว (และในที่สุดตัวปาปันเดรอูต้องยอมลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ของกรีซที่เป็นรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติขึ้นมา -ผู้แปล) ความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นนี้หมายความว่า ไม่ว่าจีนหรือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ไม่มีใครเลยที่ตกลงโอเคร่วมควักกระเป๋าเข้าร่วมแผนการกู้ภัยของยุโรป

“ถ้าประเทศเล็กๆ อย่างกรีซที่เศรษฐกิจมีขนาดเป็นเพียงแค่ 3% ของเศรษฐกิจอียูโดยรวม ยังสามารถทำให้สหภาพยุโรปโดยรวมเสียขบวน และจับเอาการประชุมซัมมิตของบรรดามหาอำนาจทั่วโลกไปเป็นตัวประกันได้เช่นนี้ มันก็เท่ากับส่อแสดงให้เห็นอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความบกพร่องของการบูรณการทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของอียู” เซี่ย เหวินฮุ่ย (Xia Wenhui) คอมเมนเตเตอร์ด้านเหตุการณ์ปัจจุบันชาวจีนแสดงความคิดเห็น

ยังมีคอมเมนเตเตอร์ชาวจีนบางคนเปรียบเทียบการรวมยุโรป กับการรวมจักรวรรดิให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ จิ๋นซีฮ่องเต้ (259 ก่อน ค.ศ. - 210 ก่อน ค.ศ.) จักรพรรดิองค์แรกของจีน โดยชี้ให็นว่า จิ๋นซีฮ่องเต้นั้นรวมเอารัฐต่างๆ ที่สู้รบแข่งขันกันมานานช้าให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางการเมืองก่อน จากนั้นจึงค่อยประกาศใช้สกุลเงินตราร่วม

ขณะที่ก่อนหน้าซัมมิตเมืองคานส์ จุดโฟกัสในปักกิ่งดูจะเป็นเรื่องสนับสนุนหรือคัดค้านการที่จีนจะเข้าซื้อหนี้สินของยูโรโซนเพิ่มมากขึ้น แต่ในบัดนี้ความสนใจได้เปลี่ยนไปเป็นเรื่องการหาทางป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามเข้ามาสร้างความเสียหาย คอมเมนเตเตอร์ทางทีวีต่างส่งเสียงเตือนว่า “คลื่นยักษ์สึนามิทางการเงิน” ลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้ามาแล้ว จึนควรต้องเร่งรีบเสริมเขื่อนทำนบของตนให้แข็งแรงขึ้นอีก และเตรียมตัวรับมือกับความยากลำบากที่จะมากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหม่

ด้วยโมเดลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาศัยการส่งออกเป็นตัวนำของปักกิ่ง ทำให้ต้องพึ่งพาตลาดยุโรปเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ยุโรปคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนทีเดียว ดังนั้น วิกฤตที่เกิดขึ้นกับเขตยูโรโซนจึงได้ส่งผลกระทบกระเทือนมาถึงโรงงานในแดนมังกรเรียบร้อยแล้ว โดยที่โรงงานจำนวนมากได้รับออร์เดอร์ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกลดฮวบลง เศรษฐกิจถดถอยที่กำลังคืบคลานเข้าสู่ยุโรป ย่อมหมายความว่าโรงงานจีนจะต้องบาดเจ็บสาหัสยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนั้น ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ ประมาณหนึ่งในสี่ทีเดียวเป็นสินทรัพย์สกุลยูโร ดังนั้น ถ้าหากยูโรโซนเกิดล้มครืนลง ปักกิ่งจะต้องประสบความเสียหายไปด้วยอย่างมหาศาล

กระนั้นก็ตาม วิกฤตกรีซก็ยังให้บทเรียนอันมีค่าบางประการต่อปักกิ่งอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาอันหนักหน่วงของทางการจีนในอนาคตข้างหน้า

“เราต้องเอาใจใส่ระมัดระวังว่า จากขนาดของประชากรทั่วประเทศของเรา และจำนวนคนเกษียณอายุที่จะเป็นตัวเลขมหึมามากในอนาคตข้างหน้า ระบบบำนาญของเราจะต้องมีความเหมาะสม” เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนผู้หนึ่งกล่าวโดยขอให้สงวนนาม “ถ้าเศรษฐกิจของจีนเกิดซวนเซขึ้นมา และเราไม่สามารถที่จะจ่ายผลประโยชน์ทางสังคมต่างๆ เหล่านี้ได้ วิกฤตที่จะเกิดขึ้นมาในจีนจะต้องมีขนาดใหญ่โตกว่าที่เราเห็นกันอยู่ในกรีซมากมายนัก”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น