เอเอฟพี - ความแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตจะช่วยควบคุมรัฐบาลให้ทำงานอยู่กับร่องกับรอย เนื่องจากประชาชนมีช่องทางตรวจสอบว่าพวกเขากำลังถูกละเมิดสิทธิอยู่หรือไม่ เอริก ชมิดต์ ประธานบริหารกูเกิล ระบุวานนี้ (12)
“ในชุมชนและประเทศต่างๆทั่วโลก คนเริ่มหันมาใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือควบคุมรัฐบาลให้บริหารงานอย่างซื่อสัตย์มากขึ้น” ชมิดต์กล่าวกับบรรดานักธุรกิจชั้นนำ ระหว่างการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่เมืองโฮโนลูลู
“การเปิดโปงความผิดต่างๆไม่เคยง่ายดายเช่นนี้มาก่อน” เขากล่าว
ชมิดต์ ยังเอ่ยถึงการประท้วงในตูนิเซียและอียิปต์ ซึ่งมีสื่อสังคมออนไลน์ “เฟซบุ๊ก” เป็นเครื่องมือสำคัญในการนัดหมายชุมนุมตามที่ต่างๆ มี “ทวิตเตอร์” ช่วยประสานความร่วมมือ และมี “ยูทิวบ์” เป็นสื่อถ่ายทอดสถานการณ์ให้ทั่วโลกรับรู้
“ผู้ใช้สื่อออนไลน์สามารถพบเจอพันธมิตรที่คิดตรงกัน พวกเขาสามารถทำความรู้จักกับผู้อพยพจากประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีแนวคิดเหมือนกันได้” ชมิดต์กล่าว
เนื่องจากประชากรโลกร้อยละ 52 มีอายุต่ำกว่า 30 ปี คนรุ่นใหม่จึงมีปากมีเสียงมากกว่าคนวัยอื่นๆ และเป็นกลุ่มที่ชำนาญการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดด้วย
“พวกเขาเป็นกลุ่มที่ใช้สื่อออนไลน์ คุณสามารถติดต่อพวกเขาได้ทางนั้น และพวกเขาก็ติดต่อกันเองด้วยวิธีนั้น พวกเขาจะแบ่งปันแอปพลิเคชั่นและสาระความรู้ต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน”
แม้ ชมิดต์ จะเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรนิ่งนอนใจต่อกระแสประท้วงบนโลกออนไลน์ แต่เขาก็ยอมรับว่า การประท้วงในอินเทอร์เน็ตอาจรุนแรงเกินความเป็นจริง
“มันง่ายมากที่จะสร้างกระแสปฏิวัติขึ้นบนโลกออนไลน์ด้วยการเอะอะโวยวาย ดังนั้น เราจึงต้องเข้าใจว่าการประท้วงที่ชอบธรรมเป็นอย่างไร และสิ่งที่เห็นเป็นแค่การโวยวายเพื่อสร้างกระแสหรือเปล่า”
ชมิดต์กล่าวว่า ความแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตจะก่อให้เกิดโลก 2 ใบที่แยกออกจากกัน นั่นคือ โลกแห่งความจริงซึ่งรัฐบาลมีอำนาจปกครองประชาชน และโลกเสมือนจริงซึ่งประชาชนมีพลังมากกว่า
และบนโลกเสมือนจริงก็แทบไม่มีที่ซ่อนสำหรับคนกระทำผิด
การใช้ความรุนแรงต่อประชาชนจะถูกบันทึกเอาไว้อย่างง่ายดาย และ “เราอาจดำเนินคดีกับคนผิดได้ ก่อนที่เขาจะหยุดการกระทำนั้นเสียอีก” ชมิดต์เผย