เอเอฟพี - บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ แถลงในวันนี้ (9) กรณีการเรียกคืนรถยนต์ 550,000 คัน จากทั่วโลก ซึ่งรวมถึงเล็กซัสที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนหนึ่งร้องเรียนถึงปัญหาการทำงานไม่สมบูรณ์ของ พูลเลย์ (รอก) เพลาข้อเหวี่ยง ซึ่งทำให้เกิดเสียงดังผิดปกติ และส่งผลให้การควบคุมพวงมาลัยยากขึ้น
โฆษกหญิงของโตโยต้า เปิดเผยผ่านสำนักข่าวเอเอฟพี ว่า “โตโยต้า” ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของโลก ได้รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวจากทั่วโลก 79 ครั้ง แต่ยังไม่มีรายงานถึงอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องพูลเลย์เพลาข้อเหวี่ยง โดยการเรียกคืนรถยนต์รอบนี้จะกระทบต่อตลาดอเมริกาเหนือ 447,000 คัน ญี่ปุ่น 38,000 คัน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ 25,000 คัน ส่วนอีก 40,000 คัน ยังไม่มีรายงานระบุว่า จะกระทบต่อตลาดประเทศใดบ้าง
โตโยต้า แถลงว่า สาเหตุที่ต้องประกาศเรียกคืน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่า แหวนรองพูลเลย์เพลาข้อเหวี่ยงอาจผิดปกติ จนก่อเสียงดังหรือเป็นสาเหตุให้มีสัญญาณไฟเตือนขึ้นมา หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข สายพานปั๊มพ์พวงมาลัยเพาเวอร์อาจหลุดออกจากพูลเลย์ โดยผู้ขับขี่อาจจับสังเกตได้ว่า ต้องใช้แรงในการบังคับพวงมาลัยเพิ่มขึ้น
รถโตโยต้าที่ถูกเรียกคืนหนนี้ประกอบด้วยรุ่นต่างๆ ดังนี้ อัลฟาร์ด, อวาลอน, แคมรี, ไฮแลนเดอร์ และเซียนนา รวมทั้งรถเล็กซัส รุ่นอีเอส 300, อีเอส 330, อาร์เอ็กซ์ 300, อาร์เอ็กซ์ 330, อาร์เอ็กซ์ 400 โฆษกหญิงโตโยต้าเปิดเผย
จากเสียงชื่นชมเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในอดีต ปัจจุบัน โตโยต้ากลับเผชิญวิกฤตมาตรฐานดังกล่าว เมื่อมีการเรียกคืนรถเกือบ 9 ล้านคัน ระหว่างปลายปี 2009-กุมภาพันธ์ 2010 จากปัญหาระบบห้ามล้อ (เบรก) และคันเร่ง ก่อนมีการเรียกรถคืนจากปัญหาอื่นๆ ทั่วโลกในเวลาต่อมา
เมื่อปี 2008 โตโยต้าสามารถกำราบบริษัทเจเนรัล มอเตอร์ ซึ่งครองบัลลังก์ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของโลกมานาน 77 ปี ทว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โตโยต้ากลับประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาการเรียกคืนรถ ปัญหาเงินเยนแข็งค่า และผลกระทบจากมหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิของญี่ปุ่น และอุทกภัยไทย
นักวิเคราะห์บางรายกำลังจับตามองว่า โตโยต้าอาจสูญเสียบัลลังก์เจ้าแห่งยนตรกรรมในปีนี้ ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นจากเจนเนอรัล มอเตอร์ ของสหรัฐฯ และบริษัทโฟล์กสวาเกน จากเยอรมนี