เอเอฟพี - หลายปีมาแล้วที่ ฌาคส์ อาร์โนลด์ ได้ช่วยเหลือคนพิการในสวิตเซอร์แลนด์ให้มีโอกาสสัมผัสความอ่อนโยนและความใส่ใจทางเพศเหมือนเช่นปุถุชนทั่วไป
แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ อาชีพ “ผู้ช่วยทางเพศ” (sexual assistant) อาจยังดูก้ำกึ่งระหว่าง “ผู้ดูแล” กับ “คนขายบริการ”
ฌาคส์ วัย 50 ปี ซึ่งมีภรรยาและบุตร 3 คน เป็นหนึ่งในผู้ช่วยทางเพศชาวสวิสเพียงไม่กี่คนที่กล้าเปิดใจพูดถึงงานของตนเอง เพราะแม้อาชีพนี้จะมีกฎหมายรับรองมานานกว่า 8 ปี แต่สังคมส่วนใหญ่ก็ยังรังเกียจเดียดฉันท์
ในฐานะหมอนวดผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินปัสสาวะและนรีเวชศาสตร์ ฌาคส์ บอกว่า จำเป็นต้องเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความช่วยเหลือทางเพศแก่ผู้พิการให้สังคมรับทราบ เพราะคนส่วนมากยังเข้าใจอาชีพนี้ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง
“คนพิการก็ยังเป็นมนุษย์ พวกเขายังรู้จักเพ้อฝัน, คาดหวัง, ปรารถนา และสับสน เหมือนคนทั่วไป” ฌาคส์ เผย
อาชีพผู้ช่วยทางเพศเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ และช่วยให้คนที่ไม่มีโอกาสปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศเพราะความพิการ ได้สัมผัสความสุขเหมือนคนทั่วไปที่มีร่างกายสมบูรณ์
ผู้ช่วยทางเพศบางรายจะสอนวิธีสัมผัสและถูกสัมผัสให้แก่ผู้พิการ และบางคนก็อาจช่วยให้ลูกค้าบรรลุจุดสุดยอด (orgasm) ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องผ่านการประเมินความต้องการของลูกค้าอย่างละเอียด และดูว่าลูกค้าแต่ละรายจะสามารถรับความสุขทางกายได้มากน้อยเพียงใด ก่อนจะเริ่มให้บริการ
อีกมุมหนึ่งของนครซูริก มิเชล กัต ผู้ช่วยหญิงผมบลอนด์ กำลังต้อนรับลูกค้าที่มาใช้บริการร้านนวด “อันดานา” ของเธอ โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือไม่ก็จิตใจ
มิเชล ทำอาชีพหมดนวดมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 จนกระทั่งได้ใบรับรองเป็นผู้ช่วยทางเพศ ซึ่งทำให้เธอได้มีโอกาสเติมเต็มความอ่อนโยนที่ขาดหายไปในชีวิตของผู้พิการเหล่านี้
“เมื่อคุณเป็นคนพิการ มันไม่ง่ายเลยที่จะใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ” เธอกล่าว
“บางคนก็ใช้ภาพโป๊ช่วยกระตุ้นอารมณ์ได้บ้าง แต่บางคนก็ไม่รู้เรื่องเพศเลย เพราะไม่มีประสบการณ์มาก่อน”
ปัจจุบันมีผู้ที่ผ่านการอบรมเป็นผู้ช่วยทางเพศในสวิตเซอร์แลนด์เพียง 10 กว่าคน โดยผู้ที่สนใจจะต้องผ่านการคัดเลือกและรับการฝึกจากองค์กรผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขว่า ทุกคนจะต้องไม่ยึดงานนี้เป็นอาชีพหลัก
“งานนี้ไม่จัดว่าเป็นอาชีพโดยตัวของมันเอง และในบางครั้งคุณอาจต้องพิสูจน์ก่อนด้วยว่า คุณมีงานประจำอยู่แล้ว” แคทเธอรีน แอ็กเธ ไดเซเรนส์ ผู้อบรมเทคนิคการช่วยเหลือทางเพศ กล่าว โดยเธอยังเป็นประธานมูลนิธิช่วยเหลือผู้พิการและกามกิจแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SEHP) ซึ่งสนับสนุนให้ผู้พิการได้รับความสุขทางเพศเหมือนคนปกติ
ประเทศยุโรปอื่นๆ เช่น เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี และ เดนมาร์ก ก็มีผู้ช่วยทางเพศเช่นกัน แต่ในบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส วิชาชีพนี้ยังไม่มีกฎหมายรับรอง ซึ่งเมื่อปีที่แล้วกลุ่มปกป้องสิทธิคนพิการก็พยายามเรียกร้องให้ผู้ช่วยทางเพศเป็นงานที่ถูกกฎหมาย และมีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
ผู้ช่วยทางเพศในสวิตเซอร์แลนด์ยังถูกมองว่ามีสถานะคล้ายโสเภณีมากกว่าผู้ดูแล เนื่องจากลูกค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ
มิเชล คิดค่าบริการ 162 ยูโร (ราว 6,800 บาท) ต่อชั่วโมงสำหรับลูกค้าที่มีความพิการ และ 220 ยูโร (9,200 บาท)สำหรับลูกค้าปกติ โดยมีบริการที่หลากหลายตั้งแต่นวดแผนโบราณไปจนถึง “นวดกระตุ้นความรู้สึก” ซึ่งให้ผลเท่ากับการสำเร็จความใคร่
อย่างไรก็ตาม มิเชล ยืนยันว่า ไม่มีการร่วมเพศกับลูกค้าอย่างแน่นอน
“ฉันรู้จักหญิงขายบริการและผู้ช่วยทางเพศบางคนที่ยอมทำให้มากกว่านั้นหากลูกค้าต้องการ ก็จะช่วยแนะนำกันไป” เธอบอก
แม้หญิงขายบริการจะรับลูกค้าที่เป็นคนพิการ ทว่า ผู้ช่วยทางเพศก็ยังดูดีกว่าในสายตาของพ่อแม่ผู้ปกครองและองค์กรอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะผู้พิการต้องการเวลาและปฏิสัมพันธ์เกินกว่าที่หญิงขายบริการจะให้ได้ และพวกเธอก็อาจรับไม่ได้กับความพิการบางอย่าง ไดเซเรนส์ และ SEHP เผย
ฌาคส์ อธิบายว่า การใช้บริการผู้ช่วยทางเพศที่รู้จักมักคุ้นกันดีจะช่วยให้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีความกระอักกระอ่วน รวมไปถึงครอบครัวของผู้พิการเองด้วย
“คุณคิดว่าเหมาะสมหรือเปล่าที่จะให้แม่ของเด็กหนุ่มที่ป่วยเป็น ดาวน์ ซินโดรม ช่วยลูกชายสำเร็จความใคร่สัปดาห์ละครั้ง” เขาตั้งคำถาม
“บางคนก็ยังรับไม่ได้กับงานผู้ช่วยทางเพศที่ผมทำ และปฏิเสธที่จะรับบริการจากผม แต่ก็มีอีกหลายคนที่คิดว่ามันดี”
“คนที่รังเกียจอาชีพอย่างเราควรจะเปิดใจ และลองหาความรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้ช่วยทางเพศ จะได้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นบ้าง”