เอเอฟพี - เหล่าผู้นำชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกเมื่อวันศุกร์(4) พุ่งเป้าให้ความสนใจต่ออิตาลี และผลักดันให้มีมาตรการต่างๆเพื่อปกป้องโรมตามหลังกรีซเข้าสู่ขอบเหวแห่งนี้
ระหว่างที่เหล่าผู้นำ ณ การประชุมจี20 กำลังได้ข้อสรุปสำหรับคำแถลงที่ออกแบบมาเพื่อจุดชนวนการเติบโตของโลกและสร้างสมดุลทางการค้าใหม่อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของสหภาพยุโรป บอกว่าเศรษฐกิจของอิตาลีจะอยู่ภายใต้การจับตามองของไอเอ็มเอฟ
อย่างไรก็ตาม อิตาลี ยืนยันว่ามาตรการต่างๆของพวกเขามีคณะกรรมาธิการยุโรปเฝ้าสังเกตการณ์อยู่แล้วและทางไอเอ็มเอฟเพียงแค่คอยให้คำปรึกษาเท่านั้น และแผนปฏิรูปของนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ได้ดำเนินการภายใต้ความพินิจพิเคราะห์อย่างมาก
ขณะเดียวกันที่ประชุมของผู้นำจี20 ก็ยังไม่ละพยายามกดดันกรีซ ซึ่งวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจของพวกเขาก็ยังเป็นประเด็นสำคัญของการหารือที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้ในฐานะตัวอย่างภัยที่อิตาลีกำลังเผชิญ
นายกรัฐมนตรี จอร์จ ปาปันเดรอู ของกรีซ ซึ่งถูกเรียกตัวไปยังฝรั่งเศส เพื่อประชุมฉุกเฉินกับประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีและนางแองเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ต้องเผชิญการลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภาวันศุกร์(4)
กระนั้นแม้ผลออกมาอย่างไร พันธมิตรยูโรโซนของเขาแสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่ว่าเขาหรือผู้สืบทอดจะต้องผลักดันรับรองมาตรการอัดฉีดควบคุมการใช้จ่ายอย่างเข้มข้นที่ทางยุโรปอนุมัติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ตอนนี้กำลังตกอยู่ในความสงสัย "การไม่รับข้อตกลงก็คือการออกจากยูโร" ฌอง ลีโอเนตติ รัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรปของฝรั่งเศส กล่าว
ก่อนหน้านี้เหล่าผู้นำชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของยูโรโซนเตือนว่ากรีซจะไม่ได้รับเงินกู้งวดถัดไป 8 พันล้านยูโร จนกว่าจะยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ทั้งนี้หากปราศจากเงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเฟและอียู เงินของกรีซจะหมดลงภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และสถานการณ์ทางการเมืองอันผันผวนและวิกฤตหนี้ในเอเธนส์จะเพิ่มแรงกดดันทางตลาดต่อฐานะทางการคลังของอิตาลี
รัฐบาลของอิตาลีออกมาตรการรัดเข็มขัดมาแล้ว 2 รอบในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา แต่ตลาดยังคงเคลือบแคลงว่ามาตรการเหล่านั้นจะช่วยลดการขาดดุลงบประมาณและสนับสนุนการเติบโตอย่างได้ผล
ณ ที่ประชุมจี20 เมื่อวันพฤหัสบดี(3) แบร์ลุสโคนี ประกาศจะสร้างสมดุลด้านงบประมาณของอิตาลีภายในปี 2013 และบอกว่าจะบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดเหล่านั้นอย่างเต็มรูปแบบในช่วงสิ้นเดือนนี้
อีกด้นหนึ่งในการประชุมครั้งนี้ทางชาติผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกนำโดยจีนและเยอรมนี ได้ให้คำมั่นส่งเสริมอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามของภาวะถดถอยรอบใหม่ ขณะเดียวกันทางจี 20 ยังเห็นพ้องเพิ่มทุนแก่ไอเอ็มเอฟเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นและลดความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตในยุโรป