xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกรายงานคนไทยหันพึ่ง “โซเชียลมีเดีย” ตามข่าวน้ำท่วม เหตุหน่ายข้อมูล รบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัญลักษณ์ของเครือข่าย “ไทยฟลัด”
วอลล์สตรีทเจอร์นัล/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เครือข่ายสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์เกี่ยวกับน้ำท่วมได้รับความนิยมพุ่งพรวดพราดตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะประเทศไทยกำลังเผชิญกับอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี นับเป็นอีกครั้งที่ “โซเชียลมีเดีย” แสดงพลังแห่งการสื่อสารท่ามกลางวิกฤตของประเทศ วอลล์สตรีทเจอร์นัลเสนอรายงาน วันนี้ (2)

บทความเรื่อง “Thais Turn to Social Media for Flood Updates” รายงานว่า ประชาชนชาวไทยต่างเบื่อหน่ายกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งให้ข้อมูลแสนสับสน หรือเสนอรายงานที่ขัดแย้งกันเองภายในหน่วยงาน บางครั้งแถลงว่า ระดับน้ำกำลังลดลง แต่มวลน้ำกลับไหลทะลักกินบริเวณกว้างขึ้นในเวลาต่อมา

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายสังคมออนไลน์จึงกลายเป็นสื่อที่รายงานข้อมูลได้รวดเร็วที่สุด และน่าเชื่อถือที่สุดในบางกรณี สำหรับคนไทย ชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยว หรือผู้คนทั่วโลกที่ต้องการรับรู้สถานการณ์น้ำล่าสุด จำนวนผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ เป็น 600,000 ราย ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะมวลน้ำมหาศาลเริ่มสร้างความตื่นตระหนกไปทั้งประเทศ โดยก่อนหน้านี้ อัตราการเติบโตรายเดือนของโซเชียลมีเดียไม่กระเตื้องมากนัก ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ข่าวและเว็บบล็อกก็มีการเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากโพสต์ข้อความและภาพถ่ายต่างๆ ภายใต้หัวข้อยอดนิยม เช่น #thaifloods หรือ #thaiflood โดยมีการส่งต่อข้อความจำนวนมากในทุกวินาที กลุ่มบล็อกเกอร์ ผู้สื่อข่าว และกลุ่มอาสาสมัคร กลายเป็นบุคคลที่ประชาชนบนโลกออนไลน์คุ้นหน้าคุ้นตากันมากขึ้น

นักเล่นทวิตเตอร์บางส่วนก็ใช้สังคมออนไลน์รายงานข่าวด่วน เช่น ทวิตเตอร์ของ @georgebkk โพสต์ข้อความช่วงเช้าวันนี้ว่า สถานีรถไฟใต้ดินยังให้บริการตามปกติ ภายใต้หัวข้อ #thaifloodeng ที่เผยแพร่ข้อความภาษาอังกฤษ ซึ่งมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ติดตามแล้วมากกว่า 10,000 ราย

ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากสังคมออนไลน์ รัฐบาลไทยก็พยายามกระโดดเข้าร่วมวงโซเชียลมีเดีย เพื่อเสนอรายงานล่าสุดและคำแนะนำ ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.floodthailand.net/ ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) ทว่า ประชาชนจำนวนมากไม่คิดพึ่งพาข้อมูลจากเว็บไซต์ของรัฐบาล และเลือกหาข้อมูลจากเว็บไซต์หรือทวิตเตอร์ของเอกชนแทน แม้ว่าบางครั้งข้อมูลของเอกชนเองก็ไม่สามารถตรวจสอบได้

ทวิตเตอร์ข่าวอุทกภัยของรัฐบาล (@FloodThailand) มีผู้ติดตามเพียง 7,600 ราย แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับผู้ติดตามทวิตเตอร์ของเครือข่ายไทยฟลัด (@Thaiflood) ที่มีจำนวนเกินกว่า 95,000 ราย ทั้งนี้ นอกเหนือจากข่าวสารล่าสุด ไทยฟลัดที่มี นายปรเมศวร์ มินศิริ เจ้าของเว็บไซต์กระปุกดอตคอม เป็นผู้ก่อตั้ง ยังเป็นศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือขององค์กรช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ต่างๆ กลุ่มอาสาสมัคร และหน่วยงานของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านักสังเกตการณ์ทุกคนจะเห็นดีเห็นงามที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อทางเลือกสำหรับการติดตามข้อมูลสถานการณ์ภัยพิบัติ ติเซียนา โบนาปาเช ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประจำเอเชียแปซิฟิก ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ แสดงความเห็นผ่านหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ว่า รัฐบาลไทยควรควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันความแตกตื่น และควรตั้งหน่วยเฉพาะกิจกำกับดูแลข้อมูลบนโลกออนไลน์ ดังเช่นที่รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการ เพื่อรับมือกับข่าวลือในอินเทอร์เน็ต หลังเกิดภัยพิบัติสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น