เอเอฟพี - ทารกซึ่งคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อยมีความเสี่ยงเป็นโรคออทิสติก มากกว่าเด็กปกติถึง 5 เท่า ผลการวิจัยซึ่งทำการศึกษายาวนานกว่า 20 ปีเผย วันนี้ (17)
เป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาสุขภาพและเรียนรู้ได้ช้า แต่ผลการศึกษาล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสารกุมารเวชศาสตร์ พบว่า น้ำหนักตัวเมื่อแรกเกิดมีส่วนเชื่อมโยงกับความผิดปกติในการเจริญของระบบประสาท หรือโรคออทิสติก
ทีมนักวิจัยสหรัฐฯได้ศึกษาพัฒนาการของเด็ก 862 คนตั้งแต่แรกเกิดจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ โดยเด็กที่เป็นกลุ่มศึกษาเกิดระหว่างปี 1984-1987 ใน 3 เทศมณฑลของรัฐนิวเจอร์ซีย์
เด็กเหล่านี้มีน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 500-2,000 กรัม
เมื่อเวลาผ่านไป เด็กร้อยละ 5 ที่มีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกเกิดเริ่มปรากฎอาการของโรคออทิสติก ในขณะที่ประชากรทั่วไปจะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
“เมื่อเด็กที่อายุครรภ์ไม่สมบูรณ์และมีน้ำหนักตัวน้อยที่สุดสามารถมีชีวิตรอดได้มากขึ้น โอกาสที่พวกเขาจะป่วยเป็นโรคต่างๆ ก็มากขึ้นด้วย” เจนนิเฟอร์ พินโต-มาร์ติน หัวหน้านักวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคออทิสติกและปัญหาด้านพัฒนาการและระบาดวิทยา ณ โรงเรียนพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ระบุ
“ปัญหาด้านการเรียนรู้ในเด็กเหล่านี้อาจแฝงอาการของโรคออทิสติกเอาไว้” เธอกล่าว พร้อมเตือนให้พ่อแม่ผู้ปกครองรีบนำบุตรหลานไปตรวจ หากสงสัยว่ามีอาการคล้ายโรคออทิสติก
“การรักษาเสียแต่เนิ่นๆจะช่วยบรรเทาปัญหาในระยะยาว และช่วยให้เด็กเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน”
ออทิสซึม เป็นโรคที่ครอบคลุมความผิดปกติหลายประการ เช่น การตอบสนองต่อสังคมช้า, ย้ำคิดย้ำทำ หรือหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้พบได้น้อย และมักเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง