xs
xsm
sm
md
lg

ประท้วง “วอลล์สตรีท” ลามทั่วโลก “นิวยอร์ก-โรม” มีเหตุปะทะ-จลาจล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเคลื่อนไหว “ออคคิวพาย วอลล์สตรีท” ชุมนุมใหญ่บริเวณไทม์สสแควร์ ย่านแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก วันที่ 15 ตุลาคม พร้อมกับการประท้วงที่เกิดขึ้นในเมืองสำคัญทั่วโลก ซึ่งเว็บไซต์ 15october.net อ้างว่า มีการชุมนุมเกิดขึ้นมากถึง 951 เมือง ใน 82 ประเทศ
เอเจนซี / เอเอฟพี - กระแสการประท้วงมุ่งต่อต้านความละโมบตะกละตะกลามของพวกชนชั้นนายทุนและภาคธนาคาร ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการประท้วงวอลล์สตรีทในนิวยอร์ก เริ่มลุกลามบานปลายไปสู่เมืองสำคัญทั่วโลกเมื่อวันเสาร์ (15) ไม่ว่าจะเป็นวอชิงตัน, ไมอามี, โรม, มาดริด, ลิสบอน, อัมสเตอร์ดัม, ปารีส, เบอร์ลิน, ซูริค, เอเธนส์, บรัสเซลส์, โตเกียว, ฮ่องกง หรือซิดนีย์ โดยเฉพาะที่เมืองหลวงของอิตาลีได้เกิดเหตุจลาจลรุนแรงถึงขั้นจุดไฟเผารถยนต์และจู่โจมธนาคาร ขณะที่ในแดนต้นตออย่างนิวยอร์ก ผู้ประท้วงหลายพันคนได้เดินขบวนครั้งใหญ่สู่ย่านจัตุรัสไทม์สแควร์ และเกิดการปะทะกับตำรวจตลอดจนเกิดเหตุโกลาหลจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

การประท้วงซึ่งจุดชนวนโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหว “ออคคิวพาย วอลล์สตรีท” หรือขบวนการยึดครองวอลล์สตรีท ศูนย์กลางทางการเงินของโลกและเป็นแหล่งผลประโยชน์ของบริษัทและธนาคารยักษใหญ่ในสหรัฐฯนั้น เริ่มแพร่เชื้อลามไปสู่ยุโรป, นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย, ตลอดจนบางส่วนของภูมิภาคเอเชีย โดยรายงานข่าวระบุว่า กระแสประท้วงในสหรัฐฯ และ “ความโกรธแค้น” ของชาวสเปนที่มีต่อนโยบายตัดงบรายจ่ายของรัฐบาลกำลังแผ่ลามไปถึง 951 เมืองจาก 82 ประเทศทั่วโลก

ที่มหานครนิวยอร์ก ที่ซึ่งการประท้วงความเอารัดเอาเปรียบของพวกทุนนิยมเริ่มเปิดฉากขึ้นจากการที่กลุ่มออคคิวพาย วอลล์สตรีทปักหลักกางเต็นท์ในสวนสาธารณะทางใต้ของแมนฮัตตัน ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ปรากฏว่า ในวันนัดหมายร่วมประท้วงแบบพร้อมเพรียงกันทั่วโลกเมื่อวันเสาร์ (15) กลุ่มแกนนำในนิวยอร์ก ระบุว่า มีผู้ประท้วงอย่างน้อย 5,000 คนมาร่วมเดินขบวนไปยังจัตุรัสไทม์สแควร์ ใจกลางเกาะแมนฮัตตัน

ในระหว่างเคลื่อนขบวน ผู้ประท้วงซึ่งประกอบด้วยนักศึกษา, สหภาพแรงงาน กระทั่งครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ ต่างร้องตะโกนว่า “เราคือพลเมือง 99 เปอร์เซ็นต์”, “เราคือประชาชน” และ “คุณโอบามา เราต้องการความช่วยเหลือ” ขณะที่ตำรวจนิวยอร์กพยายามนำเครื่องกีดขวางมากั้นไว้

เหตุการณ์เริ่มบานปลายจนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์ก ที่บริเวณหัวถนนหมายเลข 46 และอเวนิวหมายเลข 7 หลังจากตำรวจพยายามขี่ม้าไล่ต้อนผู้ประท้วงให้ถอยออกจากไทม์สแควร์ ส่งผลให้ผู้ประท้วงซึ่งตื่นตกใจวิ่งหนีกันอลหม่าน และเกิดความชุลมุนวุ่นวาย จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งถูกผลักล้มลงจนบาดเจ็บที่ใบหน้า

เอเอฟพีระบุว่า จากเหตุความวุ่นวายในนิวยอร์กเมื่อวันเสาร์ ทำให้ผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 88 คน

ขณะที่ในกรุงวอชิงตัน ประชาชนราว 2,000-3,000 คนได้ออกมาแสดงพลังมวลชนกันที่สวนสาธารณะเนชันแนลมอลล์ ก่อนที่จะมีการเริ่มต้นพิธีเปิดอนุสรณ์สถานของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองชาวผิวดำซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและสิ้นชีวิตเพราะถูกลอบสังหาร ส่วนที่ไมอามี ชาวเมืองอย่างน้อย 1,000 คน ได้เดินขบวนในย่านดาวน์ทาวน์ เพื่อต่อต้านพวกบริษัท, ธนาคาร และสงครามในตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ อเมริกันชนจำนวนมากต่างโกรธแค้นกรณีที่ธนาคารและสถาบันการเงินในสหรัฐฯ กอบโกยผลกำไรมหาศาลหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าโอบอุ้มพยุงฐานะเพื่อไม่ให้ล้มละลายในปี 2008 ขณะที่พวกเขารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่ต้องตกระกำลำบากจากภาวะเศรษฐกิจอันย่ำแย่โดยที่มีตัวเลขคนตกงานสูงถึงกว่า 9 เปอร์เซ็นต์
จูเลียน แอสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ ปราศรัยต่อผู้ชุมนุมในกรุงลอนดอน
ส่วนที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ผู้ประท้วงรวมหลายหมื่นคน ซึ่งสนับสนุนโดยสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดและนักศึกษา ได้เดินขบวนไปตามท้องถนนในเมืองหลวง แต่แล้วเหตุการณ์ก็ตึงเครียดและบานปลาย เมื่อผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งได้จุดไฟเผารถยนต์, ทุบทำลายกระจกหน้าต่างของธนาคาร รวมถึงเผาหน่วยงานของกองทัพอิตาลี พร้อมกับขว้างปาก้อนหิน, ขวดน้ำ และพลุไฟใส่ตำรวจ ขณะที่ตำรวจก็ตอบโต้ด้วยการระดมยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำใส่เพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วงอันธพาลเหล่านี้

เหตุการณ์โกลาหลที่ดินแดนมักกะโรนีนับเป็นการก่อจลาจลรุนแรงที่สุดในบรรดาการประท้วงต่อต้านความโลภของนายทุนและคัดค้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้จำนวนคนที่มาร่วมประท้วงในเมืองหลวงของอิตาลีครั้งนี้ ก็ยังนับเป็นการรวมตัวแสดงความไม่พอใจครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรป นับตั้งแต่เริ่มมีการประท้วงขึ้นที่จตุรัส ปูเอร์ตา เดล ซอล ในกรุงมาดริด ของสเปน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมเป็นต้นมา

ส่วนที่กรุงมาดริด และ กรุงลิสบอน ก็มีรายงานว่า ประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนได้ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลเมื่อวันเสาร์เช่นเดียวกัน โดยรอยเตอร์ระบุว่า เฉพาะที่เมืองหลวงของโปรตุเกสนั้น มีประชาชนมากกว่า 20,000 คน ออกมาเดินขบวนประท้วง ขณะที่ในเมืองปอร์โต เมืองใหญ่อันดับสองของแดนฝอยทอง ก็มีผู้ประท้วงจำนวนที่มากพอๆ กัน ทั้งนี้การประท้วงที่โปรตุเกสเกิดขึ้นเพียง 2 วันหลังจากที่รัฐบาลเพิ่งประกาศบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดชุดใหม่

ข้ามไปที่กรุงเอเธนส์ ชาวกรีกราว 4,000 คน รวมตัวกันเดินขบวนไปยังจัตุรัสซินตักมา เพื่อต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล พร้อมกับถือแผ่นป้ายข้อความว่า “กรีซไม่ได้มีไว้ขาย”

นอกจากนี้ ที่กรุงลอนดอนก็เกิดเหตุวุ่นวายไม่แพ้กัน เมื่อผู้ประท้วงราว 800 คน มาปักหลักชุมนุมที่ย่านการค้าใกล้กับโบสถ์เซนต์ปอล พร้อมกับชูป้าย “สู้มัน!”, “ไม่ตัดงบ” และ “โกลด์แมน แซกส์ เป็นกิจการของซาตาน” ขณะที่มีรายงานด้วยว่า จูเลียน แอสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ เว็บไซต์จอมแฉ ก็ออกมาร่วมชุมนุมในเมืองหลวงของอังกฤษครั้งนี้ด้วย

ด้านกองบัญชาการตำรวจนครบาลลอนดอน หรือ สกอตแลนด์ยาร์ด ระบุว่า มีผู้ถูกจับกุมฐานทำร้ายเจ้าพนักงาน 3 ราย และอีก 2 รายถูกจับฐานก่อกวนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ที่กรุงปารีส ซึ่งกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม จี-20 ระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าdkiแบงก์ชาติ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขวิกฤตหนี้และการขาดดุลงบประมาณบานเบอะในหลายประเทศ ก็ปรากฏว่าผู้ประท้วงราว 1,000 คน เดินขบวนกันที่ด้านหน้าศาลาเทศบาล

ที่เยอรมนี มีผู้ประท้วงหลายพันคนรวมตัวกันที่เบอร์ลิน, ฮัมบูร์ก และบริเวณด้านนอกที่ทำการของธนาคารกลางแห่งยุโรปในนครแฟรงก์เฟิร์ต

ข้ามฟากไปที่ฮ่องกง ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียของวาณิชธนกิจระดับบิ๊กๆ หลายราย อาทิ โกลด์แมน แซคส์ ก็ไม่รอดพ้นตกเป็นเป้าหมายของผู้ประท้วงเช่นกัน โดยประชาชนรวมกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและผู้เกษียณอายุ ได้ชุมนุมกันที่เอ็กซ์เชนจ์ สแควร์ พร้อมกับถือป้ายตราหน้าพวกแบงก์ว่าเป็น “เซลล์มะเร็งร้าย”

ขณะที่ในกรุงโตเกียว ชาวญี่ปุ่นราว 100 คน ได้เดินขบวนแสดงความไม่พอใจรัฐบาลจากกรณีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดฟูกูชิมะ

ในกรุงไทเป มีชาวไต้หวันกว่า 100 คน นัดชุมนุมกันที่บริเวณด้านนอกของที่ทำการตลาดหลักทรัพย์ไทเป โดยที่พวกเขาเรียกตนเองว่าเป็น “คน 99 เปอร์เซ็นต์ของไต้หวัน” พร้อมกับแสดงความไม่พอใจว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยเฉพาะแค่บรรดาบริษัทเท่านั้น ขณะที่เงินเดือนของชนชั้นกลางก็น้อยนิดเพียงแค่พอเลี้ยงชีพเท่านั้น

ที่นครซิดนีย์ ชาวออสซีราว 2,000 คน ซึ่งรวมผู้แทนจากชนกลุ่มน้อยชาวอะบอริจิน, พวกคอมมิวนิสต์ ตลอดจนสหภาพแรงงาน ได้รวมตัวกันประท้วงรัฐบาลที่ด้านนอกธนาคารกลางของออสเตรเลีย

นอกเหนือจากเมืองต่างๆ ที่กล่าวมา ในทวีปอเมริกา ทั้งเม็กซิโก, เปรู และชิลี ก็มีประชาชนรวมหลายพันคน ออกมาแสดงความไม่พอใจรัฐบาลต่อกรณีระบบการเงินอันไม่เป็นธรรมและปัญหาว่างงาน







คลิปวิดีโอรณรงค์การชุมนุมประท้วง 15 ตุลาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น