เอเอฟพี - อินเดีย บังกลาเทศ และฟิลิปปินส์ เป็นประเทศมีผลผลิตจากแรงงานเด็กมากที่สุด สถิติการใช้แรงงานเด็กทั่วโลกซึ่งสำรวจโดยสหรัฐฯ เผย วานนี้ (3)
ผลิตภัณฑ์กว่า 130 ชนิด ตั้งแต่อิฐก่อสร้าง, ลูกบอล, สื่อลามกอนาจาร ไปจนถึงแร่หายากที่ใช้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ล้วนมาจากหยาดเหงื่อของแรงงานเด็กใน 71 ประเทศ ครอบคลุมทั้งทวีปแอฟริกา, เอเชีย และละตินอเมริกา กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุ
“เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตัวเองซึ่งพระเจ้าประทานให้ และเด็กทุกคนก็ควรมีสิทธิ์ได้สานฝันของตนเอง” ฮิลดา โซลิส รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ กล่าวขณะเผยผลสำรวจประจำปีว่าด้วยแรงงานเด็กรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ครั้งที่ 10
รายงานดังกล่าวได้ตรวจสอบความพยายามของรัฐบาลกว่า 140 ประเทศที่จะจัดการปัญหาแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด โดยมุ่งเน้นแรงงานเด็กที่ถูกบังคับให้ปฏิบัติงานอันตราย และอ้างอิงข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)
ไอแอลโอประเมินว่า ปัจจุบันมีเด็กที่ถูกใช้แรงงานไม่ต่ำกว่า 215 ล้านคนทั่วโลก
องค์กรดังกล่าวยังชี้ว่า 1 ใน 3 ของประเทศต่างๆ จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนว่างานประเภทใดที่เป็นงานอันตรายและต้องห้ามสำหรับเด็ก บางประเทศยังไม่กำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับอาชีพเหล่านั้น ทั้งยังขาดระบบตรวจสอบและป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่อันตรายด้วย
รายชื่อสินค้าหลากประเภทที่ผลิตจากแรงงานเด็กแสดงให้เห็นว่า มีเด็กจำนวนไม่น้อยในประเทศกำลังพัฒนาที่ถูกบังคับให้ทำงานแทนที่จะไปโรงเรียน โดยได้ค่าจ้างเพียงเล็กน้อย หรือไม่ได้เลย
อินเดีย อยู่ในอันดับท็อปลิสต์ซึ่งมีการใช้แรงงานเด็กผลิตสินค้าไม่ต่ำกว่า 20 ประเภท เช่น บุหรี่อินเดีย (bidis), อิฐก่อสร้าง, รองเท้า, กำไล, เครื่องหอม, กุญแจ, ไม้ขีด, ข้าวสาร, ผ้าและเส้นไหม รวมไปถึงลูกฟุตบอล
แดนภารตะยังเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์จากแรงงานเด็กซึ่งถูกบีบบังคับหรือผูกมัดด้วยสัญญา ครอบคลุมสินค้า 7 ประเภท เช่น พรม, ผ้าปัก และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
บังกลาเทศมีการใช้แรงงานเด็กผลิตสินค้า 14 ประเภท โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อิฐก่อสร้าง, รองเท้า, เฟอร์นิเจอร์โลหะ, เครื่องหนัง, ไม้ขีดไฟ, สิ่งทอต่างๆ และกระสอบปอกระเจา เป็นต้น
ส่วนที่ฟิลิปปินส์ แรงงานเด็กก็ถูกใช้ผลิตสินค้าหลากหลายประเภท เช่น กล้วย, มะพร้าว, ข้าวโพด, สินค้าแฟชั่น, เครื่องทอง, เนื้อหมู, สื่อลามก, ดอกไม้ไฟ, ข้าว, ยาง, อ้อย และยาสูบ
วานนี้ (3) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประกาศมอบเงิน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่มูลนิธิศุภนิมิต (World Vision) เพื่อช่วยเหลือแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลของฟิลิปปินส์