เอเอฟพี/บีบีซี - แคนตาลูปที่ปลูกในรัฐโคโลราโด มีส่วนเชื่อมโยงถึงการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรีย “ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส” ซึ่งคร่าชีวิตชาวสหรัฐฯ ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 13 ราย และยังส่งผลให้มีผู้ป่วยอีกจำนวนมาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (ซีดีซี) รายงาน เมื่อวันอังคาร (27)
ผลแคนตาลูปที่เป็นต้นตอการเจ็บป่วยครั้งนี้ทั้งหมดมาจากฟาร์มเจนเซน ซึ่งได้เรียกคืนแคนตาลูปที่ปลูกในเมืองกรานาดา รัฐโคโลราโด และใช้ตราสินค้า “ร็อกกี ฟอร์ด” ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ เปิดเผย
คำแถลงของศูนย์ควบคุมโรคซีดีซีระบุว่า ณ เวลานี้ มีรายงานการเสียชีวิตจากอาการอาหารเป็นพิษกระจายตัวทั่วสหรัฐฯ โดยมีผู้เสียชีวิต 2 รายในรัฐโคโลราโด, 4 รายในรัฐนิวเม็กซิโก อีกทั้งผู้เคราะห์ร้ายในรัฐเทกซัส 2 ราย ส่วนในรัฐแคนซัส, รัฐแมริแลนด์, รัฐมิสซูรี, รัฐเนแบรสกา และรัฐโอคลาโฮมา มีผู้เสียชีวิตรัฐละ 1 ราย
ผู้เคราะห์ร้าย 13 ราย นี้เป็นส่วนหนึ่งในบรรดาผู้ป่วยทั้งหมด 72 ราย ใน 18 รัฐ โดยอาการเจ็บป่วยเริ่มระบาดครั้งแรก ประมาณวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ซีดีซียังเตือนไว้ว่า จำนวนผู้ป่วยมีสิทธิ์เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส จะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อประมาณ 4 สัปดาห์ ขึ้นไป ผู้สูงอายุและผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคนี้มากที่สุด ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยอยู่ที่ 78 ปี
เชื้อแบคทีเรีย “ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส” เป็นบ่อเกิดของโรคอาหารเป็นพิษ และถือเป็นเชื้อชนิดร้ายแรงที่สุดที่ใช้อาหารเป็นพาหะ โดยแบคทีเรียตัวนี้สามารถเติบโตในอุณหภูมิห้อง หรือแม้กระทั่งอุณหภูมิในตู้เย็น
ทั้งนี้ สื่อมวลชนสหรัฐฯ หลายสำนัก อาทิ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ให้คำจำกัดความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นความป่วยไข้จากอาหารที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 10 ปี
การระบาดครั้งใหญ่ของโรคลิสทีเรียในสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 1988 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากการกินฮอตด็อก 21 ราย ส่วนเมื่อปี 1985 มีผู้เสียชีวิต 52 ราย จากการบริโภคเนยแข็งเม็กซิโก
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งนี้ระบุว่า ในแต่ละปีสหรัฐฯ มีผู้ป่วยจากเชื้อลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส ประมาณ 800 ราย แต่ไม่พบการสูญเสียมากเท่าครั้งนี้ ตั้งแต่ปี 1988