xs
xsm
sm
md
lg

‘สกอตช์วิสกี้’ขายดิบขายดีในไต้หวัน

เผยแพร่:   โดย: เยนส์ คาสต์เนอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Taiwan takes to Scotch
By Jens Kastner
20/09/2011

ในไต้หวันเวลานี้ สุราวิสกี้จากสกอตแลนด์ กำลังกลายเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีความเป็นไปได้ที่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สามารถทำยอดขายพุ่งพรวดขึ้นไปถึง 45% ทีเดียว ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจของเกาะแห่งนี้ ยังคงอยู่ในสภาพซึ่งไม่สมควรแก่การเฉลิมฉลองเอาเสียเลย

ไทเป – ไต้หวันกำลังบริโภคสุราวิสกี้จากสกอตแลนด์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขของอุตสาหกรรมที่เพิ่งนำออกมาเผยแพร่บ่งบอกให้เห็นเช่นนี้ ยอดขนส่งสกอตช์ วิสกี้ มายังไต้หวัน สูงขึ้นถึง 45% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ตามข้อมูลของสมาคมสกอตช์ วิสกี้ (Scotch Whisky Association หรือ SWA) ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในเมืองเอดินบะระ

ตัวเลขดังกล่าวนี้ ทำให้เกาะที่มีประชากร 23 ล้านคนแห่งนี้ กลายเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่อันดับ 5 สำหรับสุราวิสกี้จากสกอตแลนด์ ตามหลังเพียงสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, สิงคโปร์, และ สเปน โดยที่ไต่สูงขึ้นมาจากที่เคยอยู่อันดับ 9 ในปี 2008 และอันดับ 8 ในปีที่แล้ว

ตามข้อมูลของสมาคม SWA ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ ไต้หวันใช้จ่ายเงินนำเข้า สกอตช์ วิสกี้ เป็นมูลค่าเท่ากับ 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจของเกาะแห่งนี้ ยังคงอยู่ในสภาพซึ่งไม่สมควรแก่การเฉลิมฉลอง โดยในช่วงเวลาดังกล่าว เงินเดือนค่าจ้างตามปกติของไต้หวันมีการขยับขึ้นไปเพียงนิดเดียว แถมยังถูกอัตราเงินเฟ้อหักกลบลบทอนไปเสียอีก

กระนั้นก็ตามที ชาวไต้หวันยังคงยินยอมพร้อมใจที่จะจับจ่ายซื้อหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีราคาระหว่าง 100 – 150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อขวด ในภัตตาคาร, บาร์, ห้องคาราโอเกะ, และไนต์คลับต่างๆ ของเกาะแห่งนี้

“การที่ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นในไต้หวัน ซึ่งก็เช่นเดียวกับในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่แห่งอื่นๆ นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคมั่งคั่งร่ำรวยรุ่นใหม่ๆ ที่อายุยังน้อย เต็มใจที่จะซื้อหา สกอตช์ วิสกี้ กันมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพวกเขามองสุราประเภทนี้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมที่เสริมส่งความใฝ่ฝันทะเยอทะยาน” โรสแมรี กัลลาเกอร์ (Rosemary Gallagher) ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารของสมาคม SWA บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ “นอกจากนั้น เรื่องนี้ยังเป็นผลจากการที่พวกผู้ผลิตสกอตช์ วิสกี้แต่ละราย กำลังพยายามไปโปรโมตผลิตภัณฑ์ของพวกเขาในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่างเช่นไต้หวัน เนื่องจากพวกเขาตระหนักเป็นอย่างดีว่า ดีมานด์ที่นั่นกำลังสูงขึ้นทุกที”

ผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น อย่าง ไอแวน จาง (Ivan Chang) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ เรมี่ คอนโทร ไต้หวัน (Remy Cointreau Taiwan) เห็นด้วยว่า สำหรับชาวไต้หวันเวลานี้ สกอตช์ วิสกี้ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งฐานะอันสูงส่งก้าวนำแฟชั่นไปแล้ว ทว่า จาง ซึ่งเมื่อก่อนเคยทำงานให้ผู้ผลิต สกอตช์ วิสกี้ อย่าง เดอะ แมคอัลแลน (The Macallan) มาก่อน กล่าวย้ำด้วยว่า นิสัยการดื่มเหล้าของเกาะแห่งนี้ ก็มีส่วนช่วยให้ สกอตช์ วิสกี้ เป็นสุราที่น่าสนใจด้วย

“ที่นี่ เวลาไปเที่ยวกลางคืนกัน ตามธรรมดาแล้วจะเริ่มต้นด้วยการที่เพื่อนๆ ในกลุ่มาเจอะเจอกันที่ภัตตาคาร ซึ่งจะมีการเปิดวิสกี้ขวดหนึ่ง จากตรงนั้น ก็จะมีการย้ายไปต่อที่ห้องคาราโอเกะ หรือไนต์คลับ ซึ่งเป็นเวลาสำหรับขวดที่สอง แต่ละครั้งที่ย้ายไปยังที่ใหม่ ก็มักจะมีการเปิดขวดต่อๆ ไปเสมอ” จางแจกแจง

เมื่อย้อนมองดูอดีตที่ผ่านมาก็จะพบว่า สกอตช์ วิสกี้ ในไต้หวันใช่ว่าจะประสบแต่ความสดใสเริงร่าระเรื่อยมา ก่อนหน้านี้สุราอิมพอร์ตที่ครองตลาดในเกาะแห่งนี้คือเหล้าคอนญัค ยอดขายสุราบรั่นดีฝรั่งเศสชนิดนี้พุ่งลิ่วทีเดียวในช่วงระหว่างปี 1987 ถึง 1990 อันเป็นระยะที่เศรษฐกิจและตลาดหลักทรัพย์ของเกาะแห่งนี้ต่างรุ่งเรื่องเบ่งบาน โดยในระหว่าง 3 ปีดังกล่าว ดัชนีตลาดหุ้นตัวสำคัญอย่างดัชนี ไทเอ็กซ์ (TAIEX) กระโจนจากระดับ 1,100 ไปจนถึงระดับ 12,054 ทีเดียว ขณะที่ค่าเงินสกุลท้องถิ่นก็แข็งขึ้น 40% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 นั่นแหละ เหล้าวิสกี้จึงค่อยๆ ขยายตัวเข้าแทนที่ หลังจากพวกผู้หลิตสกอตช์ วิสกี้ ทั้งหลายเริ่มต้นแคมเปญส่งเสริมการขายที่มีความละเอียดอ่อนล้ำลึก โดยที่หนึ่งในผู้ผลิตซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมากเป็นพิเศษก็คือ เดอะ แมคอัลแลน นั่นเอง ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวหลายรายในแวดวงอุตสาหกรรมนี้ แคมเปญโปรโมชั่นคราวนั้น ซึ่งใช้ชื่อว่า “Face-to-face, small-group brand-training engagement activities” (กิจกรรมกลุ่มเล็กเน้นการพบหน้ากันที่มุ่งฝึกอบรมในเรื่องแบรนด์) ได้ออกรณรงค์กันทั่วทั้งเกาะไต้หวันทีเดียว

ต้องขอบคุณการส่งเสริมการขายดังกล่าวที่ทำให้ สกอตช์ วิสกี้ กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สกอตช์ วิสกี้ แบบเหล้ามอลต์ (single malts) อย่าง เดอะ แมคอัลแลน ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของไลฟ์สไตล์แบบพรีเมียมไปเลย ตั้งแต่นั้นมา เดอะ แมคอัลแลนก็ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่โตมาก ขณะที่ สกอตช์ วิสกี้ แบรนด์ที่เป็นสุราผสม (blended) ยอดนิยม อย่างเช่น จอห์นนี วอล์คเกอร์ (Johnnie Walker) และ เรด เลเบิล (Red Label) ตลอดจนสุราชนิดอื่นๆ อย่างเช่น คอนญัค ถูกทิ้งห่างอยู่เบื้องหลัง

แต่ จาง เชื่อว่า ยังมีปัจจัยประการหนึ่ง (หรือที่จริงน่าจะเรียกว่า ความเข้าใจผิดๆ ประการหนึ่ง) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมาก ทั้งนี้เขาอธิบายว่า “สกอตช์แตกต่างออกไปจากคอนญัค มันไม่ได้มีรสหวาน ด้วยเหตุนี้คนไต้หวันก็เลยไม่คิดว่ามันจะทำให้คุณอ้วน”

บริษัทวิจัยไวน์และสุราระหว่างประเทศ (International Wine & Spirit Research) ซึ่งให้บริการในเรื่องศึกษาวิจัยตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลก โดยที่มีตัวเลขทั้งในด้านปริมาณและในด้านมูลค่า ให้คำพยากรณ์เกี่ยวกับตลาดไต้หวันในปีนี้เอาไว้ดังนี้

**เหล้าวิสกี้ ซึ่งรวมทั้งวิสกี้ญี่ปุ่น และผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น จะจำหน่ายได้ดีมาก โดยที่มีเพียงพวก ไลต์ ไวน์ (light wine) เท่านั้นที่ยังขายดีกว่า ทั้งนี้ประมาณการว่า วิสกี้จะขายได้ 1,647,000 ลัง (ขนาดลังละ 9 ลิตร) ขณะที่ ไลต์ ไวน์ ขายได้ 1,793,000 ลัง

**สกอตช์ วิสกี้ จะขายได้ราว 1,381,000 ลัง เปรียบเทียบกับวิสกี้สหรัฐฯที่จะขายได้ 16,000 ลัง, วิสกี้แคนาดา 8,000 ลัง, และวิสกี้ไอริช 1,250 ลัง

**สำหรับเหล้าคอนญัค และเหล้าอาร์มันญัค (Armagnac เป็นเหล้าบรั่นดีฝรั่งเศสเช่นเดียวกับ คอนญัค) คาดการณ์ว่าปริมาณบริโภคจะอยู่ที่ 234,250 ลัง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่สูงขึ้นมากเหล่านี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องหมายความว่าชาวไต้หวันดื่มสกอตช์ วิสกี้กันเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อน ทั้งนี้ตามความเห็นของ เหยา โฮเฉิง (Yao Ho-cheng) ผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ลอง ไลฟ์ เทรดดิ้ง คอมพานี (Long Life Trading Company Ltd) ซึ่งเป็นผู้นิยมชมชอบวิสกี้มอลต์คนหนึ่ง โดยเขาชี้ว่า ตัวเลขข้อมูลของทางสมาคม SWA เป็นตัวเลขการส่งออก ยังไม่ใช่ตัวเลขของการบริโภคที่แท้จริง

“เวลานี้คนเขาดิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนใช่หรือเปล่า ผมว่ายังไม่แน่หรอก มันเป็นตัวเลขข้อมูลเรื่องส่งออก รวมทั้งน่าจะสะท้อนให้เห็นยอดขายด้วย ทว่าไม่ใช่เป็นตัวเลขข้อมูลจำนวนขวดที่ดื่มกัน นอกจากนั้นการที่คนเราเดี่ยวนี้ดื่มวิสกี้ที่มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน ก็ย่อมจะทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทว่าปริมาณจริงๆ อาจจะไม่เพิ่มขึ้นหรอก” เหยากล่าว นอกจากนั้นเขายังชี้ว่า ช่วงเวลาที่ใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบ เป็นช่วงเวลาที่การบริโภคอยู่ในระดับต่ำ

“ปี 2009 ไม่ใช่เป็นปีที่ดีเลย จริงๆ แล้วตลาดกลับมากระเตื้องดีขึ้นตั้งแต่กลางปี 2010 ดังนั้นถ้าหากคุณเอาตัวเลขของช่วง 6 เดือนแรกปี 2011 มาเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2010 ตัวเลขของปี 2011 ก็ย่อมจะดูดีเกินไป”

เหยายังคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับเครือข่ายซัปพลายสุราของไต้หวัน โดยเขาบอกว่า พวกบริษัทจัดจำหน่ายมีบทบาทที่ทำให้ตัวเลข้อมูลที่ออกมา อาจจะมีการบิดเบือนไปจากความเป็นจริงอยู่บ้าง

“พวกผู้จัดจำหน่ายที่ไต้หวันนี่ มีความโน้มเอียงที่จะสต็อกเหล้าเอาไว้ให้สูงมากเป็นพิเศษ โดยเก็บเอาไว้ที่เอเยนต์หรือที่สำนักงานสาขาของพวกเขา ทั้งนี้เนื่องจากการซื้อเอาไว้คราวละมากๆ จะได้ราคาต้นทุนที่ต่ำลง ความจริงเรื่องอย่างนี้ก็เกิดขึ้นในทุกๆ ประเทศแหละ ทว่าในไต้หวันจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ”

เยนส์ คาสต์เนอร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในไทเป
กำลังโหลดความคิดเห็น