xs
xsm
sm
md
lg

ประธานาธิบดีคนใหม่ของ‘พม่า’แสดงท่าทีต้องการ‘ปฏิรูป’

เผยแพร่:   โดย: มารวาน มาแคน-มาร์คา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pro-reform president shakes up Myanmar
By Marwaan Macan-Markar
15/09/2011

การแสดงท่าทียอมผ่อนปรนทางการเมืองและทางด้านสิทธิมนุษยชนบางประการ กำลังทำให้รัฐบาลพม่าของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ได้รับคำชมเชยจากหลายภาคส่วนอย่างไม่คาดคิด เป็นต้นว่า ออง ซาน ซู จี ผู้นำการรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย ตลอดจนสหภาพยุโรป แต่ขณะที่มีความรู้สึกกันว่าการปกครองแบบกดขี่ของฝ่ายทหารที่ดำเนินมาเกือบ 50 ปี อาจจะกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงแล้ว พวกนักวิจารณ์ก็ยังไม่วายที่จะระแวงว่า ทั้งหมดที่ปรากฏออกมาเหล่านี้ เป็นเพียงการเอาอกเอาใจเพื่อลดแรงต้านในแวดวงประชาคมระหว่างประเทศเท่านั้น

กรุงเทพฯ – จากการที่รัฐบาลพม่าชุดปัจจุบัน ซึ่งจำแลงร่างให้ดูเหมือนเป็นรัฐบาลพลเรือน กำลังผ่อนคลายการกุมอำนาจอย่างเข้มงวดเด็ดขาดอย่างที่คณะทหารผู้ปกครองประเทศได้เคยกระทำมาตลอดเกือบ 50 ปีหลังมานี้ ทำให้เกิดคำถามข้อใหญ่ขึ้นมาประการหนึ่ง นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็น “ของจริง” แค่ไหน?

ออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านทางการเมืองคนสำคัญที่สุดของพม่า ดูเหมือนจะค่อนข้างมีความแน่ใจเชื่อถือ “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตก็เป็นเรื่องของอดีต สถานการณ์ในปัจจุบันคือเรื่องปัจจุบัน ซึ่งกำลังมีความก้าวหน้าไปในบางอย่างบางประการ” ผู้นำหญิงวัย 66 ปีผู้นี้แถลงต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ (12 กันยายน) ที่แล้ว

ซู จี แสดงความปรารถนาที่จะลากเส้นแบ่งอย่างชัดเจน ระหว่างช่วงเวลาร่วมๆ ครึ่งศตวรรษแห่งการปกครองอย่างกดขี่บีฑาของฝ่ายทหาร กับคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง (Thein Sein) ซึ่งก็เป็นอดีตนายพลและเป็นผู้นำคนหนึ่งในคณะทหารผู้ปกครองพม่าด้วย

ภายหลังการพบปะหารือเมื่อวันจันทร์ (12) กับ ดีเรค มิตเชลล์ (Derek Mitchell) ผู้แทนพิเศษดูแลเรื่องพม่าของคณะรัฐบาลสหรัฐฯ ผู้นำหญิงเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นี้ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ (ผู้แทนของสหรัฐฯ) ก็มีความสนอกสนใจเช่นเดียวกัน และดังนั้นพวกเราทั้งสองฝ่ายจึงได้หารือแลกเปลี่ยนทัศนะมุมมองต่างๆ ของพวกเรา”

ซู จี เพิ่งได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ภายหลังถูกจองจำกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในเขตบ้านพักมาเป็นเวลานานกว่า 7 ปี เมื่อวันอาทิตย์ (11 กันยายน) เธอยังได้จัดการพบปะหารืออีกนัดหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน นั่นคือการไปเยี่ยมครอบครัวของ มิน โก นาย (Min Ko Naing) นักโทษการเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในบรรดาผู้ที่ยังติดอยู่ในคุกเวลานี้

การพบปะกันคราวนี้เกิดขึ้นในนครย่างกุ้ง โดยที่ โพ จี (Bo Kyi) เลขาธิการร่วมของสมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า (Assistance Association for Political Prisoners in Burma หรือ AAPP) บอกว่า “การไปเยี่ยมครอบครัวของ มิน โก นาย คราวนี้ ถือเป็นการให้ความสนับสนุนแสดงความยกย่องในเชิงศีลธรรมแก่ครอบครัวของ มิน โก นาย และต่อตัว มิน โก นาย เองด้วย” ทั้งนี้ โพ จี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ IPS) โดยทางโทรศัพท์จากบริเวณชายแดนไทย-พม่า

ชะตากรรมของ มิน โก นาย ที่ปัจจุบันอายุ 48 ปี และถูกตัดสินลงโทษจำคุกถึง 65 ปี กำลังกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักโทษการเมืองพม่า ผู้ซึ่งถูกเล่นงานบีฑาอย่างหนักหน่วงยิ่งจากความกล้าหาญแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับคณะทหารผู้ปกครองประเทศ ตามตัวเลขของ AAPP ในพม่าปัจจุบันยังคงคุมขังนักโทษการเมืองอยู่ 1,996 คนตามเรือนจำและค่ายบังคับใช้แรงงานรวม 44 แห่ง

ฝ่ายทหารพม่าเข้าปกครองประเทศตั้งแต่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 1962 นับแต่นั้นมาก็ถูกประณามอยู่เนื่องๆ ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทว่าคณะรัฐบาลของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ชุดปัจจุบัน ได้แสดงท่าทีการผ่อนปรนอ่อนข้อทางการเมืองบางประการ ซึ่งแม้ยังไม่มากมายอะไรแต่ก็เป็นที่สังเกตจับตากัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ได้ยินยอมอนุญาตให้ทางคณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross หรือ ICRC) เข้าไปเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ 3 แห่ง

การเยี่ยมเยียนของทางกาชาดสากลคราวนี้ ซึ่งทำให้มีการปรับปรุงสภาพการณ์ด้านน้ำดื่มน้ำใช้และสุขาภิบาลในเรือนจำ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี หลังจากที่ทางการทหารพม่าปฏิเสธไม่ยอมให้หน่วยงานมนุษยธรรมระหว่างประเทศแห่งนี้ มีโอกาสได้เข้าถึงนักโทษการเมืองทั้งหลาย

ในเดือนสิงหาคม ซู จี เข้ามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการหลอมละลายความเป็นปรปักษ์กัน ระหว่างพวกอดีตนายพลที่ถอดเครื่องแบบเปลี่ยนมาสวมใส่ชุดพลเรือนและจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ กับบรรดาฝ่ายค้านต่อต้านระบอบทหารซึ่งรณรงค์ต่อสู้แวดล้อมพรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy NLD) ที่ตัวซู จีเองเป็นหัวหน้า และถูกฝ่ายทหารยุบเลิกสถานะถูกต้องทางกฎหมายไปแล้ว

วันที่ 19 สิงหาคม ซู จี ได้พบปะหารือแบบพบหน้าพบตากันเป็นครั้งแรกกับ เต็ง เส่ง ที่กรุงเนย์ปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ที่อยู่ทางตอนกลางของพม่าและห่างไกลย่านศูนย์กลางทางการเมืองเศรษฐกิจในอดีต วันรุ่งขึ้น เธอยังได้เข้าร่วมการประชุมหารือในเรื่องการลดปัญหาความยากจนในพม่า

“ซู จี รู้สึกมีกำลังใจมากทีเดียว จากระดับของการเปิดกว้างในการประชุมหารือ และเธอก็ต้องการสนับสนุนส่งเสริมความพยายามในการลดความยากจนอีกด้วย” ซอว์ อู (Zaw Oo) นักเศรษฐศาสตร์ชาวพม่าที่เข้าร่วมการประชุมคราวนั้นด้วย บอกกับสำนักข่าวไอพีเอส “มันเป็นเรื่องหนึ่งที่เธอกับรัฐบาลสามารถมีผลประโยชน์ร่วมกันได้ โดยไม่ได้มีความแตกต่างทางอุดมกาณ์หรือทางการเมืองอะไรมากมาย”

เต็ง เส่ง ก็ได้รับเครดิตจากการที่สามารถหันเหแสงไฟสปอตไลต์มาจับจ้องที่ปัญหาความยากจน ซึ่งต้องถือเป็นปัญหาที่น่าเศร้าใจมากสำหรับพม่า เพราะในทางเป็นจริงแล้ว ประเทศนี้มั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสามารถทำรายได้ให้แก่พม่าถึง 8,000 ล้านดอลลาร์ จากการส่งออกไปจำหน่ายให้แก่ประเทศไทยระหว่างปี 2000 – 2008

ในอดีตที่ผ่านมา มีรายงานว่าคณะทหารผู้ปกครองพม่าสามารถทำกำไรได้มากมายจากลาภลอยก้อนโตก้อนนี้ โดยที่ไม่สนใจแยแสต่อข้อเท็จจริงที่ว่า มีประชาชนถึง 19 ล้านคน หรือเท่ากับ 33% ของประชากรทั่วประเทศทีเดียว ที่ยังต้องดำรงชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน ในปัจจุบันในดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่จัดทำโดยสหประชาชาติ โดยที่มีการศึกษากันทั้งสิ้นใน 182 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าพม่าติดอันดับ 138

“การให้ความสำคัญสูงถึงขนาดนี้แก่เรื่องการลดความยากจนและการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย” ซอว์ อู กล่าว “รัฐบาลไม่เพียงตระหนักรับรู้ถึงปัญหาและความท้าทายต่างๆ ที่ตนเองต้องเผชิญเท่านั้น แต่ยังจัดการอภิปรายถกเถียงกันอย่างเปิดใจกว้าง แม้กระทั่งรัฐมนตรีหลายๆ คนยังถูกโต้แย้งจากพวกผู้เข้าร่วมประชุมเลย”

การแย้มออกมาเป็นนัยๆ ถึงการปฏิรูปในพม่าภายใต้ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ยังกำลังได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากนานาชาติ ถึงแม้ประธานาธิบดีผู้นี้ผู้เพิ่งได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาแห่งชาติเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยที่ประดาสมาชิกของรัฐสภาเองก็ได้รับการเลือกตั้งในการออกเสียงลงคะแนนทั่วประเทศที่เต็มไปด้วยข้อโต้แย้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงการกล่าวหาว่าฝ่ายทหารได้เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งคราวนั้นอย่างโจ๋งครึ่ม

สหภาพยุโรป (อียู) ที่ในอดีตหลายๆ ปีมานี้ ได้วิพากษ์วิจารณ์คณะทหารผู้ปกครองแดนหม่องอย่างรุนแรง รวมทั้งได้ประกาศมาตรการลงโทษคว่ำบาตรพม่าด้วย ในเวลานี้ได้แสดงท่าทีต้อนรับสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความเปลี่ยนแปลงในแดนหม่อง “ดิฉันมองเห็นโอกาสที่จะเกิดการเปิดกว้างมากขึ้นอีกในพม่า” คริสตาลินา จอร์จิเอวา (Kristalina Georgieva) กรรมาธิการยุโรปฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กล่าวแสดงทัศนะ

“ดิฉันรู้สึกมีกำลังใจมาก จากการที่พวกเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแสดงความปรารถนาที่จะเพิ่มขยายการเข้าถึงทางด้านมนุษยธรรม ให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ของพม่ามากยิ่งขึ้น” เธอบอกกับผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯเมื่อวันอาทิตย์ (11) ภายหลังจากไปปฏิบัติภารกิจทางด้านมนุษยธรรมในพม่าเป็นเวลา 2 วัน “บรรยากาศในประเทศนั้นมีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิม เราทราบว่ามีปัจจัยหลายๆ ประการที่ส่งเสริมให้เกิดความเปลี่ยนแปลง”

ช่อมะกอกแห่งความชื่นชมจากอียูเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ตามมาภายหลังจากอียูได้ดำเนินการผ่อนผันแก่พม่าแล้วหลายประการ โดยเป็นการผ่อนปรนที่ประกาศออกมาหลังจากที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่า ได้กล่าวคำปราศรัยที่มุ่งเน้นเรื่องการปฏิรูป ไม่นานนักหลังจากที่เขาเข้าดำรงตำแหน่ง เวลานี้บรรดารัฐมนตรีของชาติยุโรปได้รับอนุญาตให้เดินทางไปเยือนพม่าได้แล้ว ขณะที่ข้อจำกัดห้ามชาติอียูออกวีซ่าเข้าประเทศแก่พวกเจ้าหน้าที่พม่า รวมไปถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของแดนหม่องด้วย ก็ได้รับการยกเลิกแล้ว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่บังเกิดขึ้นเหล่านี้ยังคงสร้างความสบายอกสบายใจเพียงน้อยนิดให้แก่เหยื่อเคราะห์ร้ายที่ถูกฝ่ายทหารพม่ากดขี่บีฑาเฉกเช่น โพ จี ผู้ต้องตกเป็นนักโทษการเมืองอยู่กว่าสิบปี “รัฐบาลจะต้องปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหลาย และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ตลอดทั่วทั้งประเทศ” เขากล่าวย้ำ “สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้ ยังคงเป็นไปเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันจากนานาชาติ และมุ่งปรับปรุงฟื้นฟูภาพลักษณ์ของตนเองเท่านั้น”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น