เอเอฟพี - ลูกปลาฉลามเคราะห์ดีหลายสิบตัวรอดพ้นจากการเป็นเหยื่ออันโอชะของมนุษย์ หลังจากกลุ่มนักอนุรักษ์ในพัทยาช่วยกันไถ่ตัวพวกมันจากภัตตาคารหรู ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ผืนน้ำอ่าวไทย นักล่าแห่งท้องทะเลตัวน้อยเหล่านี้เป็นเพียงผู้รอดชีวิตไม่กี่รายจากตลาดอาหารเมืองไทย ซึ่งคร่าชีวิตฉลามปีละหลายล้านตัว
ปลาฉลามถูกล่าในน่านน้ำไทยเฉลี่ยปีละ 22,000 ตัน เพียงเพื่อต้องการครีบไปปรุงเป็น “หูฉลาม” อาหารจานเด็ดระดับภัตตาคาร ครั้งหนึ่ง ผู้มีสิทธิ์ลิ้มรสหูฉลามจำกัดอยู่เฉพาะผู้มีอันจะกินเท่านั้น ทว่าปัจจุบัน หูฉลามกำลังได้รับความนิยมในชนชั้นกลางที่ร่ำรวยในสังคมไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
องค์กร “โอเชียนา” (Oceana) กลุ่มอนุรักษ์ท้องทะเลระหว่างประเทศ ประเมินสถานการณ์ว่า ทั่วโลกมีฉลามถูกล่าเพื่อทำซุปหูฉลามปีละ 73 ล้านตัว ซึ่งได้คร่าจำนวนประชาการฉลามมากถึง 90 เปอร์เซนต์
เมื่อวันเสาร์ (3) ที่ผ่านมา ปลาฉลามจำนวนหลายสิบตัวได้กลับสู่ผืนน้ำในอ่าวไทยอีกครั้ง โดยกลุ่มนักอนุรักษ์นามว่า “ไดฟ์ไทรป์” (Dive Tribe) ที่เสียสละเงินซื้อพวกมันคืนมาจากท้องตลาดและภัตตาคาร ฉลามที่รอดพ้นหม้อซุปอย่างเฉียดฉิวในวันนั้นส่วนใหญ่เป็น ลูกปลาฉลามกบ (bamboo shark) และลูกปลาฉลามครีบดำ (black tip reef shark)
กวิน มิลล์ส (Gwyn Mills) ครูสอนดำน้ำชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งกลุ่มไดฟ์ไทรป์ในพัทยา บรรยายความจริงอันน่าเศร้าว่า สถานการณ์เลวร้ายของปลาฉลามมักถูกมองข้าม เมื่อเปรียบเทียบกับการปกป้องสัตว์ชนิดอื่นๆ อาทิ ช้าง หรือ เสือ
ขณะที่ เวย์น ฟิลลิปส์ (Wayne Phillips) อาจารย์ภาควิชานิเวศวิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “พวกมันไม่มีอิสรภาพ ตอนนี้มันได้คืนแล้ว มันอาศัยอยู่ในตู้มาตลอด อยู่ที่ทะเลคงดีกว่า”
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างมองว่าปลาฉลามมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศในท้องทะเล โดยเฉพาะในฐานะผู้บริโภคลำดับสุดท้ายของห่วงโซ่อาหาร
“หากเราช่วยกันปกป้องฉลาม ปะการังก็จะได้รับการปกป้อง” อาจารย์ฟิลลิปส์กล่าว “เราต้องทำให้ผู้คนตระหนักว่าฉลามสำคัญแค่ไหน”
กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างๆ เชื่อว่าความหวังเดียวที่จะพลิกสถานการณ์ความอยู่รอดของปลาฉลามในทะเลไทยได้ คือ การเน้นย้ำถึงประโยชน์ของมันต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย โดยชี้ให้เห็นว่าปลาฉลามสามารถดึงดูดนักดำน้ำได้จำนวนมาก แต่ปัจจุบัน การดำน้ำพบปลาฉลามในทะเลไทยเป็นภาพที่หาได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ
กวิน มิลล์ส อธิบายว่าฉลามครีบดำหนึ่งตัวมีค่าต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากมายกว่าการอยู่ในหม้อซุปของภัตตาคารหลายร้อยเท่า เขายังเสนอแนวคิดว่าควรจ่ายค่าชดเชยชาวประมงต่อการปล่อยปลาฉลามที่ว่ายมาติดอวนหรือแหระหว่างหาปลา
ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มไดฟ์ไทรป์แล้ว การต่อสู้เพื่อปกป้องฉลามไทยเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น