เอเอฟพี - บริษัทค้าปลีกในเครือ เทสโก้ โลตัส ในเกาหลีใต้ เปิดให้บริการร้านค้าเสมือนจริง (virtual store) เป็นครั้งแรกที่สถานีรถไฟใต้ดินกรุงโซล ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนใช้บริการอื่นๆ ได้อีกสารพัด
โฮมพลัส คือ ประสบการณ์ใหม่ล่าสุดสำหรับนักช้อป โดยมีสินค้ากว่า 500 ชนิด มาให้บริการถึงสถานีรถไฟใต้ดินโซลเลือง ทางตอนใต้ของกรุงโซล ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้สำนักงาน หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย
เสาอาคาร 7 ต้น และประตูชานชาลาอีก 6 จุด ถูกปิดทับด้วยภาพสินค้าบนชั้นวาง ซึ่งมีขนาดสมจริงทุกประการ เช่น นมสด, แอปเปิล, ข้าวสารถุง และกระเป๋าสะพายนักเรียน โดยมีบาร์โค้ดเล็กๆ ติดไว้ที่ภาพสินค้า
ผู้ซื้อเพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชันลงในสมาร์ทโฟน จากนั้นก็สามารถสั่งซื้อสินค้าโดยสแกนบาร์โค้ด
“คุณสามารถสั่งสินค้าก่อนไปทำงานตอนเช้า โดยสินค้าจะถูกส่งถึงบ้านเรียบร้อยในตอนค่ำ” โฆษกหญิงของ โฮมพลัส ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ เผย
โฮมพลัส ก่อตั้งขึ้นในปี 1999 โดยการร่วมทุนระหว่างบริษัท เทสโก้ ของอังกฤษ และ ซัมซุง ของเกาหลีใต้ ทว่าในปัจจุบัน เทสโก้ เป็นผู้ถือครองหุ้นทั้งหมด
“บริการนี้จะช่วยเพิ่มยอดขายผ่านทางผู้ใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งจะเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ในอนาคต” โฆษกหญิง ระบุ
ปัจจุบัน โฮมพลัส จำหน่ายสินค้าออนไลน์สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งทำรายได้เฉลี่ย 30 ล้านวอน (836,000 บาท) ต่อสัปดาห์ แต่บริษัทหวังว่าบริการใหม่น่าจะช่วยเพิ่มยอดซื้อจากผู้โดยสารรถไฟใต้ดิน ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 200,000 คนต่อวัน
คำสั่งซื้อจากสถานีรถไฟใต้ดินโซลเลืองจะถูกส่งไปยังร้าน โฮมพลัส สาขาที่ใกล้บ้านลูกค้ามากที่สุด โดยสินค้าทุกชนิดที่สั่งซื้อก่อน 13.00 น.จะถูกส่งถึงมือลูกค้าในวันเดียวกัน
“ร้านค้ารูปแบบใหม่ซึ่งผสานการสั่งซื้อแบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมาก” โฆษกหญิง กล่าว
อย่างไรก็ตาม โฮมพลัส รูปแบบใหม่ยังดึงดูดผู้ซื้อได้เพียงเล็กน้อยในสัปดาห์แรก โดยมีคนหนุ่มสาวไม่กี่คนที่หยุดถ่ายรูปชั้นวางสินค้า แต่ไม่ทดลองสั่งซื้อจริง
ฮวาง วอน-อิล วัย 40 ปี ผู้จัดการบริษัทพัฒนาระบบจ่ายเงินทางมือถือ กล่าวว่า เขายังไม่มั่นใจในการจำหน่ายสินค้ารูปแบบนี้
“การสั่งสินค้าแค่ 5 ชิ้นอาจต้องใช้เวลานาน 5-10 นาที... มันเป็นประสบการณ์ใหม่ แต่ผมไม่มั่นใจว่า คนจะอยากเสียเวลาขนาดนั้นในสถานีรถไฟใต้ดินหรือเปล่า” เขากล่าว
ด้าน อิม คยุง-ฮี ผู้จัดการภัตตาคารแห่งหนึ่ง บอกว่า เธอยินดีจะสั่งซื้อสินค้าระหว่างไปทำงาน หากเธอไม่มีเวลาที่จะไปร้านขายของชำตอนเย็น
“คงจะดีไม่น้อยเลย ถ้ามีอาหารไปรออยู่ถึงประตูบ้านตอนที่ฉันกลับไปถึง” เธอบอก