เอเอฟพี - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สูญเสียงบประมาณมูลค่ากว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 900,000 ล้านบาท) เป็นค่าสัญญาว่าจ้างบริษัทต่างๆ ให้ดำเนินงานในอิรักและอัฟกานิสถานโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากการบริหารงานที่ไร้คุณภาพ ประกอบกับการผูกขาดสัญญาโดยไร้คู่แข่ง คณะกรรมาธิการอิสระเสนอบทความผ่านหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ วานนี้ (29)
ในรายงานสรุปผลฉบับแรกต่อรัฐสภาที่เตรียมเผยแพร่ในวันพุธ (31) นี้ คณะกรรมาธิการว่าด้วยสัญญาว่าจ้างระหว่างสงคราม (Commission on Wartime Contracting) เตือนว่า ความเสียหายและการฉ้อโกงได้บ่อนทำลายภาพลักษณ์ทางการทูตของสหรัฐฯ มิหนำซ้ำยังช่วยส่งเสริมการคอร์รัปชันในอิรัก-อัฟกานิสถาน
คริสโตเฟอร์ เชย์ส และไมเคิล ธีโบลต์ ประธานร่วมในคณะกรรมาธิการชุดนี้ เขียนรายงานลงในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ท่ามกลางกระแสดดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ ลดการสนับสนุนด้านกลาโหมและสาธารณะแก่อัฟกานิสถาน หลังจากสงครามที่ยืดเยื้อกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 10
คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ชี้ว่า สหรัฐฯ กระโจนเข้าสู่สงครามอัฟกานิสถาน ปี 2001 และอิรัก ปี 2003 โดยขาดการวางแผนรับมือกับ “ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่จำนวนมาก” เป็นผลให้ “สหรัฐฯ ไว้ใจคนกลุ่มนี้มากเกินไป”
ประธานร่วมทั้งสองยังเตือนว่า เพนตากอนอาจต้องสูญเงินอีก 30,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า หากรัฐบาลอิรักหรืออัฟกานิสถาน “ไม่สามารถหรือไม่เต็มใจสนับสนุนโครงการที่ใช้เงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ” หลังจากกรุงวอชิงตันยุติความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการว่าด้วยสัญญาว่าจ้างระหว่างสงครามนำกรณีตัวอย่างมาเปิดเผย เช่น การสร้างเรือนจำมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,200 ล้านบาท) ในอิรัก โดยรัฐบาลกรุงแบกแดด “ไม่ได้ต้องการ และการก่อสร้างก็ไม่แล้วเสร็จ” ส่วนในอัฟกานิสถาน สหรัฐฯ ถลุงเงินไป 300 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9,000 ล้านบาท) เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าในกรุงคาบูล ทั้งๆ ที่รัฐบาลอัฟกันไม่มีกำลังซื้อเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญคอยดำเนินการ
การขาดคู่แข่งขันในสัญญาว่าจ้างยิ่งส่งผลต่อการสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ผลงานคุณภาพต่ำ และเกิดการฉ้อโกง รายงานในวอชิงตันโพสต์ระบุ
ตัวอย่าง เช่น กรณีของบริษัทแอปพลาย เอเนอร์เจติกส์ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุน 50 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) ในการสร้างอาวุธที่สามารถจุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่ซุกซ่อนอยู่ตามถนนในอัฟกานิสถานได้ แต่ท้ายที่สุดการผลิตก็ล้มเหลวในช่วงการทดสอบ