xs
xsm
sm
md
lg

'จีน'กำลังพ่ายแพ้ในการแข่งขันหาคะแนนนิยมจาก'ชาติเอเชีย' (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เจี่ยน จวินโป

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China losing Asian popularity contest
By Jian Junbo
16/08/2011

ถึงแม้จีนกำลังพยายามดำเนิน “นโยบายเป็นเพื่อนบ้านที่ดี” อยู่ในเอเชีย แต่แดนมังกรก็ยังคงตกเป็นเป้าหมายของความขุ่นเคืองและความระแวงสงสัย สืบเนื่องจากการเติบใหญ่เข้มแข็งขึ้นทุกทีทั้งทางเศรษฐกิจและทางการทหาร โดยตัวอย่างที่เตะตาที่สุดก็คือความตึงเครียดทั้งหลายที่เกิดขึ้นในย่านทะเลจีนใต้ ความรู้สึกไม่ไว้วางใจของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแถบนี้ เป็นสิ่งที่สั่งสมขึ้นมาจากประวัติศาสตร์หลายศตวรรษแห่งการต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้ราชสำนักจีน ตลอดจนการทำศึกสงครามกับมหาจักรวรรดิจีน ดังนั้น การที่ปักกิ่งจะลดทอนเพิกถอนอุปสรรคเครื่องกีดขวางเหล่านี้ให้สำเร็จ บรรดาผู้นำแดนมังกรจำเป็นที่จะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์เอเชียอันมีลักษณะรอบด้านกว้างขวางขึ้นมา โดยที่จะต้องเน้นย้ำเรื่องการลงมือกระทำจริงๆ มากกว่าเพียงแค่คำพูดระรื่นหูเท่านั้น

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ลอนดอน - ถึงแม้จีนกำลังพยายามดำเนิน “นโยบายเป็นเพื่อนบ้านที่ดี” (good neighbor policy) ในเอเชีย แต่แดนมังกรก็ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังอึงคะนึงมากขึ้นเรื่อยๆ จากแวดวงต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในหมู่เจ้าหน้าที่ข้าราชการ, บทความทัศนะในสื่อมวลชน, ตลอดจนระดับประชาชนทั่วไป ดังนั้นจึงดูเหมือนจะถึงเวลาอันสมควรแล้วที่ปักกิ่งจะต้องขบคิดทบทวนและปรับปรุงแก้ไขยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเอเชียของตนเสียใหม่

การท้าทายล่าสุดนั้นมาจากญี่ปุ่น ในวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ยูกิโอะ เอดาโนะ (Yukio Edano) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีแดนอาทิตย์อุทัยแถลงว่า ญี่ปุ่นจะส่งกองกำลังป้องกันตนเองของตนออกปฏิบัติการ หากมีประเทศต่างชาติใดๆ รุกรานหมู่เกาะเซนซากุ (Senkaku หมู่เกาะนี้ทั้งโตเกียวและปักกิ่งต่างอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตน โดยที่จีนเรียกชื่อเป็นภาษาจีนว่า หมู่เกาะ เตี้ยวอี๋ว์ Diaoyu) “ถ้ามีประเทศอื่นๆ รุกรานหมู่เกาะแห่งนี้ [ญี่ปุ่นก็จะ] ดำเนินการตามสิทธิในการป้องกันตนเอง และขับไล่พวกเขาออกไปแม้ด้วยการยอมสละชีวิต” เอดาโนะพูดเช่นนี้ในกรุงโตเกียว โดยส่อนัยว่าเขากำลังหมายถึงกิจกรรมทางนาวีของจีนในอาณาบริเวณดังกล่าว

เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งโดยตำแหน่งจะมีฐานะเป็นหัวหน้าโฆษกรัฐบาลด้วย กล่าวแสดงทัศนะเช่นนี้ ภายหลังจากที่เพิ่งมีการตีพิมพ์เผยแพร่ “สมุดปกขาวว่าด้วยการป้องกันประเทศญี่ปุ่น” (Japan Defense White Paper) ประจำปี 2011 โดยที่รายงานประจำปีฉบับล่าสุดนี้เพิ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ของนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง เมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน เนื้อความสำคัญตอนหนึ่งของสมุดปกขาวฉบับนี้ ได้กล่าวถึงจุดยืนของจีนในกรณีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิเหนือเขตแดนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ราย ว่า เป็นท่าทีแบบ “ยืนกรานแข็งกร้าว” (assertive)

“พิจารณาจากการที่จีนดำเนินกระบวนการปรับปรุงกองกำลังอาวุธทางนาวีและทางอากาศให้ทันสมัยในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ อาณาบริเวณที่จีนจะถือว่าเป็นเขตอิทธิพล (sphere of influence) ของตนน่าที่จะขยายเกินล้ำเข้าไปในน่านน้ำของบรรดาเพื่อนบ้านของตน ... เป็นที่คาดหมายได้ว่า จีนจะพยายามแผ่ขยายเขตพื้นที่แห่งกิจกรรมต่างๆ ของตนออกไปเรื่อยๆ, และทำให้กิจกรรมทางนาวีทั้งหลายกลายเป็นการปฏิบัติอันเป็นกิจวัตรปกติในน่านน้ำต่างๆ รอบๆ ญี่ปุ่น รวมทั้งในเขตทะเลจีนตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิก ตลอดจนในเขตทะเลจีนใต้”

ทางฝ่ายปักกิ่งได้พูดถึงสมุดปกขาวฉบับนี้ว่า เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นอย่าง “ไร้ความรับผิดชอบ” พร้อมกับปฏิเสธข้อเสนอในเอกสารนี้ที่ระบุว่า กระบวนการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ของแดนมังกร จะส่งผลกระทบต่อบรรดาเพื่อนบ้านของจีนในภูมิภาคแถบนี้

ก่อนที่ญี่ปุ่นจำเผยแพร่รายงานการป้องกันประเทศประจำปีของตนดังกล่าว ทางด้านฟิลิปปินส์ก็ได้จัดส่งสมาชิกรัฐสภา 5 คนพร้อมกับนายทหารจำนวนหนึ่ง เดินทางไปยังเกาะจงเย่ว์ (Zhongye Island ทางการฟิลิปปินส์เรียกชื่อเกาะแห่งนี้ว่า เกาะเปกาซา Pagasa Island) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์เหล่านี้ขึ้นบก ณ เกาะที่แดนมังกรกับแดนตากาล็อกพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่นั้น – โดยที่บางคนได้ร้องเพลงชาติร่วมกับชาวฟิลิปปินส์ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ที่นั่นด้วย – ปรากฏว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของจีนกำลังอยู่ในเวทีการหารือของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN โดยที่ฟิลิปปินส์ก็เป็นชาติสมาชิกหนึ่งขององค์การระดับภูมิภาคแห่งนี้) ซึ่งจัดขึ้นบนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเสาะแสวงหาหนทางต่างๆ ในการผ่อนคลายความตึงเครียดในย่านทะเลจีนใต้

ขณะเดียวกัน กรณีพิพาททางดินแดนในน่านน้ำเหล่านั้น ในคู่ของจีนกับเวียดนาม ก็กลายเป็นเชื้อเพลิงโหมฮือให้เกิดการประท้วงตามท้องถนนอย่างไม่หยุดหย่อนในเวียดนามในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านต่อต้านสิ่งที่ฝ่ายเวียดนามเรียกว่า “การรุกรานของคนจีน”

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยังออกมาแม้กระทั่งจากสิงคโปร์ ซึ่งไม่ได้มีกรณีพิพาททางดินแดนใดๆ กับจีนเลย และเท่าที่ผ่านมาปักกิ่งก็มองว่าสิงคโปร์เป็นชาติที่มีจุดยืนอันเป็นมิตรกับแดนมังกร ยิ่งกว่าเพื่อนบ้านอีกหลายๆ รายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ในปีนี้ ลีกวนยู รัฐบุรุษอาวุโสของสิงคโปร์ได้กล่าวว่า เขาปรารถนาที่จะให้สหรัฐฯเป็นเจ้าใหญ่นายโตในเอเชีย มากกว่าที่จะให้จีนเป็น เนื่องจากเขามองว่าสหรัฐฯนั้นมีความเมตตากรุณามากกว่า

รอบๆ ภูมิภาคแถบนี้ ถ้อยคำโวหารต่อต้านจีนมักประสบพบเห็นได้ไม่ยากเย็นนักในคำปราศรัยของพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลและในบทความบทวิจารณ์ของพวกสื่อมวลชน

ไม่มีบิ๊กมหาอำนาจรายอื่นๆ อีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, หรือแม้กระทั่งอินเดีย ที่ถูกกล่าวหาโจมตีอย่างไม่เป็นมิตรหรือกระทั่งอย่างเป็นปรปักษ์จากบรรดาเพื่อนบ้านของตน อย่างมากมายเหลือเกินถึงขนาดนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเช่นนี้ย่อมเป็นคนละเรื่องเลยกับการที่ปักกิ่งรู้สึกว่า ตนเองกำลังใช้ความพยายามเพื่อสร้างเสริมเพิ่มพูนความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรรดาเพื่อนบ้าน ภายใต้ “นโยบายเป็นเพื่อนบ้านที่ดี” ของตน

“นโยบายเป็นเพื่อนบ้านที่ดี” นี้ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักการทางยุทธศาสตร์การทูต 4 ประการของจีน ซึ่งได้แก่ มหาอำนาจรายใหญ่เป็นหุ้นส่วนที่เป็นกุญแจสำคัญ, พวกประเทศเพื่อนบ้านเป็นหุ้นส่วนสำคัญลำดับต้น, พวกประเทศกำลังพัฒนาเป็นรากฐานแห่งการทูตของประเทศจีน, และพวกสถาบันพหุภาคีเป็นเวทีที่ทรงความสำคัญ (big powers are key partners, neighboring countries are primary partners, developing countries are the foundation of China's diplomacy and multilateral institutions are important platforms)

เพื่อที่จะปฏิบัติตามหลักการทางยุทธศาสตร์ในด้านการทำให้เหล่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นหุ้นส่วนสำคัญลำดับต้น ปักกิ่งยึดมั่นอยู่กับหลักการของการ “ติดต่อคบหากับพวกประเทศเพื่อนบ้านในฐานะเป็นหุ้นส่วนกัน และปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างมีไมตรีจิต” รวมทั้ง “การสร้างความเป็นเพื่อนบ้านกันที่กลมเกลียวเป็นมิตรกัน, สงบสุข, และมั่งคั่งรุ่งเรือง”

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ การประชุมป๋ออ้าวเพื่อเอเชีย (Bo'ao Asia Forum) อันเป็นเวทีการประชุมระดับภูมิภาคที่มุ่งส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน ได้กล่าวปราศรัยว่า เพื่อที่จะสร้างเอเชียที่มีความกลมเกลียวปรองดองกัน ประเทศต่างๆ จำเป็นที่จะต้องให้ความเคารพต่อความแตกต่างหลากหลายของอารยธรรมต่างๆ และส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านระหว่างกัน

“เราจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแบบแผนแห่งการพัฒนา และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาแบบรอบด้าน ... เราจำเป็นที่จะต้องแบ่งปันลู่ทางโอกาสแห่งการพัฒนา และเข้าเผชิญรับมือกับความท้าทายต่างๆ ด้วยการร่วมมือร่วมใจกัน ... เราจำเป็นที่จะต้องเสาะแสวงหาพื้นที่ซึ่งสามารถร่วมมือกันได้ ขณะที่เก็บงำความแตกต่าง และส่งเสริมเพิ่มพูนความมั่นคงที่มีร่วมกัน ... เราจำเป็นที่จะต้องยกย่องเชิดชูการมีผลประโยชน์ร่วมกัน และการทำให้ความร่วมมือระดับภูมิภาคได้หยั่งรากลงลึกยิ่งขึ้น” หูกล่าวไว้เช่นนี้ในคราวนั้น

ภายใต้ “นโยบายเป็นเพื่อนบ้านที่ดี” ของแดนมังกร ย่อมเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ปักกิ่งจะต้องพิจารณาเห็นว่า การปรับปรุงความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับบรรดาชาติสมาชิกอาเซียน คือภารกิจทางยุทธศาสตร์อันสำคัญมากประการหนึ่ง โดยที่แดนมังกรได้มีการสร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับ 10 ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2003 แล้ว นอกจากนั้นยังกระทำเช่นนี้กับสมาชิกอาเซียนเป็นรายประเทศอีกด้วย โดยที่ได้มีข้อตกลงเช่นนี้แล้วกับบางราย และยังทะยอยสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถึงแม้จีนได้พยายามทุ่มเทใช้ความพยายามในการกระชับปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาติเพื่อนบ้านของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ดูเหมือนว่ายังคงมีความระวังระแวงไม่ไว้วางใจแดนมังกรที่มีใบหน้าเปื้อนยิ้มรายนี้อยู่นั่นเอง และดูเหมือนว่าขณะที่จีนขยายอิทธิพลบารมีของตนออกไปตามความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและทางการทหารซึ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ก็ยิ่งไม่ชอบจีนหนักข้อขึ้นทุกทีเช่นกัน

ดร.เจี่ยน จวินโป เป็นรองศาสตราจารย์ของสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา (Institute of International Studies Institute of International Studies) แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) มหานครเซี่ยงไฮ้, ประเทศจีน ปัจจุบันเขาเป็นผู้เยี่ยมเยียนทางวิชาการ (academic visitor) ณ ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ แอนด์ โพลิติคอล ซายซ์ (London School of Economics and Political Science) สหราชอาณาจักร
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น