เอเอฟพี - สงครามความขัดแย้งในสมรภูมิลิเบีย ระอุมานานกว่า 6 เดือน แต่นาโตยังคงเชื่อมั่นว่า ระบอบปกครองของ พันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี จะต้องถูกโค่น และกลุ่มกบฏจะเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่าในที่สุด
วันที่ 17 มีนาคม ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1973 ได้มอบอำนาจให้ “นาโต” กรีธาทัพเข้าปกป้องคุ้มครองพลเรือนลิเบีย จากการรุกรานของกองทัพรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นกำลังเผชิญกับกระแสปฏิวัติ หลังกัดดาฟีปกครองประเทศมานาน 42 ปี
นาโตเข้ารับภารกิจตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน โดยมีกำหนดการสิ้นสุดในเดือนกันยายน หากไม่มีมติขยายเวลาปฏิบัติการจากชาติสมาชิก ซึ่งรวมไปถึง อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี และสหรัฐฯ ทว่า ชาติมหาอำนาจเหล่านี้กำลังเผชิญปัญหาปีงบประมาณบานปลาย และถูกกดดันให้ถอนกำลังจากสนามรบ
พล.ท.ชาร์ลส์ บูชาร์ด ผู้บัญชาการนาโตแห่งสมรภูมิลิเบีย ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี เมื่อวันพฤหัสบดี (11) ว่า “กองทัพกัดดาฟีอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ ทั้งด้านความเข้มแข็ง และด้านจิตใจที่ฮึกเหิม”
“ทหารลิเบียหมดปัญญาสู้รบด้วยความเชื่อมั่นอีกต่อไป” พลโทชาวแคนาดาผู้นี้กล่าว พร้อมทั้งประกาศความมั่นใจว่า สงครามลิเบียจะยุติก่อนถึงกำหนดสิ้นสุดปฏิบัติการในเดือนหน้า
ขณะที่ ฟรองซัวส์ แอส์บูร์ก ที่ปรึกษาพิเศษของมูลนิธิเพื่อการวิจัยยุทธศาสตร์ (Foundation for Strategic Research) ณ กรุงปารีส แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ทัพพันธมิตร “ประเมินความสามารถของกองกำลังกัดดาฟีต่ำเกินไป และประเมินความสามารถการรบ และความสามัคคีของกบฏลิเบียสูงเกินไป”
“การแก้ปัญหาทางการเมืองเป็นวิธีเดียวที่จะยุติสงครามได้” อัลบาโร เด บาสกอนเซลอส ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงแห่งสหภาพยุโรป (European Union Institute for Security Studies) กล่าว พร้อมทั้งแสดงความเชื่อว่า ทางเดียวที่จะล้มกัดดาฟี คือ บรรดาผู้ช่วยทั้งหลายต้องเอาใจออกห่างผู้นำลิเบีย
ทั้งนี้ การโจมตีทางอากาศของชาติพันธมิตรตะวันตกถูกวิจารณ์จากสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงอย่าง จีน บราซิล รัสเซีย อินเดีย และ แอฟริกาใต้ ชาติเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันว่า ปฏิบัติการของทัพพันธมิตรได้ลุกลามล้ำเส้นคำว่า ปกป้องพลเรือน
นอกเหนือจากเรื่องความชอบธรรม งบประมาณของกองทัพพันธมิตรกลายเป็นประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นอร์เวย์ได้ถอนฝูงบินขับไล่เอฟ-16 ชุดสุดท้ายที่ร่วมรบในลิเบียกลับประเทศ ส่วนอิตาลีก็ได้ถอนกองเรือบรรทุกเครื่องบินออกจากน่านน้ำลิเบีย
ขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสมีคำสั่งให้เรือบรรทุกเครื่องบิน “ชาร์ล เดอ โกล” เดินทางกลับไปยังเมืองท่าที่ตูล็อง แต่ยืนกรานว่าจะร่วมรบในปฏิบัติการถล่มลิเบียต่อไป
อย่างไรก็ตาม นาโต ยืนยันหนักแน่นว่า มียุทโธปกรณ์เพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจให้เสร็จสิ้น โดยดูเหมือนไม่มีความแคลงใจเลยว่า หากสงครามยืดเยื้อออกไป เดือนหน้า ย่อมมีการหารือว่าด้วยการขยายเวลาปฏิบัติการโค่นล้ม มูอัมมาร์ กัดดาฟี