xs
xsm
sm
md
lg

มาเลเซียเริ่ม “นิรโทษกรรม” แรงงานผิดกฎหมาย-แว่วเสียงเตือนคนงานถูกฉ้อโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานต่างด้าวในมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซีย, บังกลาเทศ และอินเดีย
เอเอฟพี - รัฐบาลมาเลเซียเริ่มนิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมายแล้วในวันนี้ (1) ขณะที่กลุ่มปกป้องสิทธิแรงงานออกมาประณามนโยบายดังกล่าวว่าไม่มีความชัดเจน และอาจทำให้แรงงานต่างชาติเสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกง

ตลอด 6 เดือนนับจากนี้ แรงงานต่างชาติในมาเลเซียซึ่งส่วนใหญ่มาจาก อินโดนีเซีย, บังกลาเทศ และอินเดีย จะได้รับการขึ้นทะเบียนด้วยระบบพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งจะช่วยให้คนเหล่านี้ทำงานในมาเลเซียต่อไปได้อย่างถูกกฎหมาย หรือไม่ก็ถูกส่งกลับประเทศโดยไม่มีบทลงโทษใดๆทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อระบุ

ทั้งนี้ การลักลอบทำงานในมาเลเซียโดยผิดกฎหมาย จะมีโทษจำคุก หรือแม้กระทั่งถูกเฆี่ยน

เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า การบันทึกลายนิ้วมือจะช่วยลดอาชญากรรมลงได้ เนื่องจากแรงงานต่างด้าวจำนวนมากมักมีส่วนพัวพันกับอาชญากร ทั้งยังป้องกันไม่ให้แรงงานที่ถูกส่งกลับประเทศไปแล้วปลอมแปลงเอกลักษณ์กลับเข้ามาในมาเลเซียอีก

“ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างยังขาดแคลนแรงงาน และมีความต้องการแม่บ้านจำนวนมาก รัฐบาลหวังว่าแรงงานต่างด้าวจะช่วยตอบสนองความต้องการของธุรกิจเหล่านี้ได้ ก่อนที่จะอนุญาตให้ผู้อพยพรายใหม่ๆเข้ามา” เจ้าหน้าที่เผย

รัฐบาลมาเลเซียประกาศโครงการนิรโทษกรรมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อจัดการแรงงานผิดฎหมายที่มีมากถึง 1.8 ล้านคน โดยคนเหล่านี้มีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจแดนเสือเหลืองด้วยการเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ซึ่งรายได้น้อยและไม่เป็นที่ต้องการของชาวมาเลย์

อย่างไรก็ตาม กลุ่มปกป้องสิทธิแรงงานออกมาชี้ว่า โครงการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนว่าแรงงานประเภทใดที่จะต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งอาจทำให้แรงงานบางกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดหรือฉ้อโกงได้

“ผมกังวลอย่างยิ่งว่าจะเกิดขบวนการผิดกฎหมายหลอกเอาเงินจากคนงานต่างด้าว” ไอรีน เฟอร์นันเดซ ผู้อำนวยการกลุ่มปกป้องสิทธิแรงงาน เตอนากานิตา (Tenaganita) กล่าว พร้อมตำหนิรัฐบาลมาเลเซียที่ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากกลุ่มแรงงานต่างๆเลย

รัฐบาลมาเลเซียมอบหมายให้บริษัทจัดหางานเอกชนกว่า 300 แห่งทั่วประเทศเข้ามาช่วยลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว แต่มีรายงานว่าบางบริษัทฉวยโอกาสเรียกเก็บเงินจากแรงงานคนละ 3,500 ริงกิต (35,000 บาท) โดยอ้างว่าจะช่วยให้อยู่ในมาเลเซียอย่างถูกกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น