เอเอฟพี - สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอาจก่อให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของนานาประเทศทั่วโลก เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วานนี้ (20)
แม้วิทยาศาสตร์จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะโลกร้อนได้ ทว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเกิดขึ้นจริง และส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคม อาคิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) ระบุ
สไตเนอร์กล่าวทำนายสถานการณ์ขั้นร้ายแรงที่สุดว่า อุณหภูมิของโลกอาจสูงขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียสภายในปี 2060 และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 1 เมตรภายในศตวรรษหน้า
สไตเนอร์ระบุด้วยว่า แม้ขณะนี้ก็เริ่มมีสัญญาณอันตรายหลายอย่าง และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ภัยแล้งที่กำลังเกิดในโซมาเลีย หรือน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถานซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดอาหารของโลก
“ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ” เขาเสริม
วานนี้ (20) องค์การสหประชาชาติประกาศให้ 2 ภูมิภาคทางตอนใต้ของโซมาเลียซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตความแห้งแล้ง เป็นเขตทุพภิกขภัยร้ายแรงที่สุดในรอบ 20 ปีของแอฟริกา และเรียกร้องให้นานาชาติระดมความช่วยเหลือก่อนที่สถานการณ์จะย่ำแย่ลง
“สัญญาณบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศไม่เพียงกำลังเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังรุนแรงขึ้นด้วย” สไตเนอร์ กล่าว พร้อมเสริมว่า ทุพภิกขภัยและการเพิ่มของระดับน้ำทะเลจะเป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงของทุกประเทศ
การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศครั้งถัดไปจะจัดขึ้นที่เมืองเดอร์บันของแอฟริกาใต้ในเดือนธันวาคม ซึ่ง สไตเนอร์ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายกำหนดมาตรการที่เด็ดเดี่ยวเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาก็ตาม