เอเอฟพี - คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบความมั่นคงแห่งอิสราเอลเตรียมประชุมร่วมกันอีกครั้งวันนี้ (27) กรณีการยับยั้งกองเรือบรรเทาทุกข์นานาชาติที่ประสงค์จะฝ่าการปิดล้อมน่านน้ำของอิสราเอลเข้าไปยังฉนวนกาซา สื่อท้องถิ่นรายงาน
วันอาทิตย์ (26) รัฐมนตรีในที่ประชุมของอิสราเอลได้รับทราบถึงการเตรียมพร้อมของทหารยิว เพื่อรอรับมือขบวนเรือบรรเทาทุกข์จำนวน 10 ลำ ซึ่งคาดว่าจะถอนสมอเดินทางจากกรีซมุ่งหน้าไปยังฉนวนกาซาในสัปดาห์นี้
“เมื่อวานนี้ คณะรัฐมนตรีตัดสินใจว่าจะไม่อนุญาตให้กองเรือทอดสมอในเขตฉนวนกาซา แต่อนุญาตให้ขนถ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ไว้ที่ท่าเรือแอชดอด (ของอิสราเอล) หรือท่าเรือเอล-อาริช ของอียิปต์” สถานีวิทยุทหารอิสราเอลรายงาน “หากไม่พบอาวุธหรือเครื่องกระสุนใดๆ สิ่งของเหล่านั้นจะได้รับการส่งต่อไปยังฉนวนกาซาทั้งหมด”
สถานีวิทยุชุมชนของอิสราเอลรายงานเพิ่มเติมว่า กรุงไคโรยินยอมให้กองเรือบรรเทาทุกข์ทอดสมอที่ท่าเรือเอล-อาริช ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายแดนอียิปต์-ฉนวนกาซาประมาณ 50 กิโลเมตร
นอกจากนี้ หนังสือพิพม์ฮายมรายงานอ้างอิงคำกล่าวของผู้บัญชาการกองทัพเรือระหว่างหารือกับคณะรัฐมนตรี ว่า ทหารเรือยิวเตรียมตัวพร้อมรับมือเหตุการณ์ ดียิ่งกว่าครั้งเดือนพฤษภาคมปี 2010 เมื่อหน่วยคอมมานโดยิวบุกโจมตีเรือมาวีมาร์มารา ซึ่งนำขบวนกองเรือบรรเทาทุกข์ และสังหารนักเคลื่อนไหวชาวตุรกีไปทั้งหมด 9 ราย
“กองกำลังของเราพร้อมหยุดกองเรือ และจะไม่ปล่อยให้เรือลำไหนเข้าถึงฉนวนกาซา” แหล่งข่าวภายในผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวกับฮายม หนังสือพิมพ์รายวันแจกฟรีของอิสราเอลที่ถูกตราหน้าว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู
กลุ่มนักเคลื่อนไหวสนับสนุนปาเลสไตน์จำนวน 350 คนจาก 22 ประเทศเข้าร่วมกับ “กองเรือเสรีภาพโครงการ 2” (Freedom Flotilla II) คาดกันว่าจะมีเรือร่วมขบวนทั้งสิ้นจำนวน 10 ลำ โดยเรือจากกรีซ ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนจะเป็นส่วนหนึ่งในกองเรือบรรเทาทุกข์ครั้งนี้ ทว่าเรือมาวีมาร์มาราของตุรกี ซึ่งถูกหน่วยคอมมานโดยิวโจมตีเมื่อปีที่แล้ว ไม่ได้เข้าร่วม
วันอาทิตย์ อิสราเอลได้ประกาศเตือนนักข่าวต่างประเทศว่าไม่ควรร่วมกับขบวนเรือที่มีเจตนารุกล้ำการปิดล้อม โดยสำทับว่าการกระทำเช่นว่านั้นถือว่าผิดกฎหมาย และผู้เข้าร่วมจะต้องโทษห้ามเดินทางเข้าอิสราเอลเป็นเวลา 10 ปี
ทั้งนี้ อิสราเอลประกาศปิดล้อมฉนวนกาซาครั้งแรกเมื่อปี 2006 หลังจากกลุ่มนักรบหัวรุนแรงในกาซาได้ลักพาตัว กีลาด ชาลิต พลทหารชาวยิว อันนำมาซึ่งสงครามนองเลือด แม้อิสราเอลยอมผ่อนปรนข้อห้ามนำเข้าสินค้าพลเรือนและอาหารต่างๆ เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีข้อบังคับเข้มงวดเหลืออยู่มากมาย