เอเจนซี/เอเอฟพี - องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ชี้ กระแสลมพัดพาเอาสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าปรมาณูฟุกุชิมะ ลอยออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว แต่ไม่ส่งผลใดๆ ต่อญี่ปุ่น และประเทศใกล้เคียง
“ปัจจัยแวดล้อมทางด้านลมฟ้าอากาศทั้งหมดขึ้นอยู่กับสภาพนอกชายฝั่งแล้ว ไม่มีผลตามมากับญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นที่อยู่ใกล้ญี่ปุ่น” มารยัม โกลนารากี หัวหน้าแผนกบรรเทาความเสี่ยงภัยพิบัติของดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าว
โฆษกดับเบิลยูเอ็มโอ ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ยังเตือนว่า แม้กระแสลมได้พัดเอาอนุภาคสารกัมมันตรังสีออกนอกชายฝั่งของประเทศไปแล้ว แต่สภาพภูมิอากาศอาจเปลี่ยนแปลงได้ และทางองค์กรกำลังเฝ้าจับตาดูข้อมูลจากดาวเทียม และแหล่งอื่นๆ อย่างใกล้ชิด
ก่อนหน้านี้ พยากรณ์อากาศ ชี้ว่า ลมใกล้พื้นผิวเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปทางตะวันออก ซึ่งหมายความว่า กำลังพัดออกสู่มหาสมุทร ขณะที่ลมเหนือพื้นดิน 1,000 เมตร จะเคลื่อนที่ไปทางตะวันออก ก่อนเปลี่ยนไปทางตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม ในวันพุธ (16) คาดว่า ทั้งกระแสลมใกล้พื้นผิว และลมเหนือพื้นดิน 1,000 เมตรจะเคลื่อนตัวไปทางเหนือ ก่อนเปลี่ยนทิศไปทางตะวันตกอีกครั้ง
รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่า ระดับกัมมันตรังสีบริเวณใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว พุ่งถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์แล้ว หลังโรงไฟฟ้าดังกล่าวเกิดระเบิด 2 ครั้ง และไฟไหม้อีกครั้งในวันนี้
ขณะที่เตาปฏิกรณ์ปรมาณู 4 จากทั้งหมด 6 เครื่องที่โรงไฟฟ้าหมายเลข 1 ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 250 กิโลเมตร กำลังร้อนเกินพิกัด เนื่องจากระบบหล่อเย็นล้มเหลว และอาจส่งผลให้เกิดการระเบิดได้