เอเอฟพี - เหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจัดเป็นหายนะทางธรรมชาติครั้งรุนแรงอันดับ 5 ของโลก ส่งผลให้เกาะญี่ปุ่นเคลื่อนจากตำแหน่งเดิมประมาณ 8 ฟุต (2.4 เมตร) สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (ยูเอสจีเอส) เผยวานนี้(12)
“นี่ถือเป็นระดับที่มากพอสมควรทีเดียว หากเทียบกับสนามฟุตบอล” พอล เอิร์ล ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจาก ยูเอสจีเอส ให้สัมภาษณ์
ยูเอสจีเอสระบุว่า แผ่นดินไหวและกระบวนการแปรสัณฐานทางธรณีครั้งนี้ เกิดจากการชนกัน (thrust faulting) ของแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกและอเมริกาเหนือ
แผ่นแปซิฟิกมีอัตราการมุดตัวลงใต้แผ่นอเมริกาเหนือประมาณ 3.3 นิ้วต่อปี แต่แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดทำให้แผ่นเปลือกโลกทั้ง 2 เคลื่อนที่ผิดไปจากเดิมมาก และก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามมา
“แผ่นดินไหวระดับนี้สามารถทำให้เปลือกโลกเคลื่อนที่ไปมาก อาจจะเคลื่อนไปถึง 20 เมตรเมื่อวัดจากทั้ง 2 ด้าน” เอิร์ล กล่าว พร้อมระบุว่ารอยเลื่อนลักษณะนี้ยังพบได้บริเวณชิลีและอินโดนีเซีย
แผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์นอกเกาะสุมาตรา เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2004 ทำให้มีผู้เสียชีวิตรอบมหาสมุทรอินเดียราว 228,000 คน ส่วนแผ่นดินไหว 8.8 ริกเตอร์นอกชายฝั่งชิลีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ก็คร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อยกว่า 500 คน
อย่างไรก็ตาม เอิร์ลอธิบายว่า แผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์ที่เฮติ มีลักษณะแตกต่างจากที่กล่าวข้างต้น
“ความรุนแรง 7.0 ริกเตอร์ถือว่าน้อยกว่าที่เกิดในญี่ปุ่นมาก อาฟเตอร์ช็อกก็รุนแรงน้อยกว่า”
ด้าน เคนเน็ต ฮัดนัต นักธรณีฟิสิกส์จาก ยูเอสจีเอส ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญกำลังศึกษาข้อมูลจากระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (จีพีเอส) เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก
“เราพบว่าสถานีจีพีเอส 1 แห่งเคลื่อนไปจากจุดเดิมประมาณ 8 ฟุต ส่วนแผนที่จากองค์การข้อมูลภูมิสารสนเทศญี่ปุ่น (จีเอสไอ) ก็แสดงให้เห็นว่า ลักษณะการเคลื่อนที่ในบริเวณกว้างมีความสอดคล้องกับอัตราการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน” ฮัดนัตให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น