เอเอฟพี - ชาวประมงฟิลิปปินส์ต่างอิดหนาระอาใจ เมื่อพบว่าแหของพวกเขาต้องพังพินาศ เพราะปลาประหลาดต่างถิ่นที่สีสันน่าเกลียดแถมยังมีเงี่ยงแหลมคม
ปลากดเกราะ หรือ “ปลาซักเกอร์” จากทวีปอเมริกาใต้ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ต่างถิ่นที่กำลังแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วในลำน้ำธรรมชาติของฟิลิปปินส์ และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ท้องถิ่น
สายพันธุ์ต่างถิ่นเหล่านี้อาจดูน่ารักน่าชัง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าเตือนว่า พวกมันอาจเข้ามาแย่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์พื้นเมือง ตลอดจนสร้างความเสียหายแก่ไร่นา หรืออุตสาหกรรมประมงของประเทศ
“ภัยต่อระบบนิเวศที่เกิดจากสายพันธุ์ต่างถิ่นค่อนข้างรุนแรงมาก พวกมันสามารถเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ กำจัดสายพันธุ์พื้นเมือง และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศได้” แอนสัน แท็กแท็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ระบุ
ในกรณีของปลากดเกราะ พวกมันสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วกว่าปลาท้องถิ่น และจะเข้าไปแย่งอาหาร รวมถึงสร้างรังอยู่ริมฝั่งน้ำที่เป็นโคลน ทำให้แม่น้ำลำคลองสกปรก
ชาวฟิลิปปินส์ไม่นิยมรับประทานเนื้อปลาชนิดนี้เพราะมีรสเฝื่อน ทำให้พวกมันมักถูกโยนทิ้งเมื่อเผลอเข้ามาติดอวน
รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ริเริ่มโครงการกำจัดสายพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งจะใช้เวลา 3 ปี ในการสืบเสาะว่าพวกมันมีอยู่มากน้อยเพียงใดในธรรมชาติ และหายุทธศาสตร์ในการควบคุมหรือขจัดปัญหาให้หมดไป
แท็กแท็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวหน้าโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีพืชและสัตว์ต่างถิ่นประมาณ 100 สายพันธุ์ ซึ่งสร้างปัญหาใก้กับสภาพแวดล้อมในฟิลิปปินส์
แรกเริ่มเดิมที ผู้รุกรานเหล่านี้ถูกนำเข้ามาในประเทศเพื่อประโยชน์บางอย่าง หรือเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม
ตัวอย่างที่แย่ที่สุด ได้แก่ หอยเชอรี่สีทองพันธุ์ไต้หวัน (Taiwanese golden apple snail) ซึ่งรัฐบาลนำเข้ามาในทศวรรษที่ 1970 เพื่อเป็นแหล่งอาหารทางเลือกแก่ชาวนา อย่างไรก็ตาม ชาวฟิลิปปินส์ไม่เคยนิยมรับประทานหอยชนิดนี้ แต่พวกมันกลับทำลายนาข้าวเสียหายปีละหลายล้านดอลลาร์ แท็กแท็ก เผย
พืชวายร้ายอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ ผักตบชวา ซึ่งถูกนำเข้ามาเป็นครั้งแรกเพื่อตบแต่งบ่อปลา แต่กลับแพร่ขยายพันธุ์จนเต็มแม่น้ำลำคลองอย่างรวดเร็ว และปิดกั้นไม่ให้พืชน้ำชนิดอื่นๆ ได้รับแสงอาทิตย์
แท็กแท็ก ยอมรับว่า ฟิลิปปินส์ ก็เช่นเดียวกับหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังล้าหลังในการป้องกันและควบคุมสายพันธุ์ต่างถิ่น
“พวกเราประสบปัญหาเหมือนกันหมด และเพิ่งจะมาตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้ร้ายแรงเพียงใด”
บางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย และ เวียดนาม เริ่มทำโครงการกำจัดสายพันธุ์ต่างถิ่นออกไปจากระบบนิเวศแล้ว ขณะที่ฟิลิปปินส์ยังอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการนำเข้าสัตว์และพืชเหล่านี้ แท็กแท็ก ระบุ
โจสฟินา เด ลีออน หัวหน้ากรมทรัพยากรสัตว์ป่าฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “เจ้าของสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่มักไม่รับผิดชอบต่อสัตว์ที่ตนเลี้ยงดู เมื่อไม่สนใจแล้วพวกเขาก็ทิ้งมันไป ปล่อยให้พวกมันแพร่ลูกออกหลานในธรรมชาติ”
ร้านสัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลาจำหน่ายปลาอัลลิเกเตอร์ (alligator gars) ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับจระเข้ ขณะที่กบสีชมพูแอฟริกาก็กระโดดไปมาอยู่ในโหลแก้วใบโต
แม้ตำรวจจะบุกตรวจค้นร้านขายสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง และยึดสัตว์ต่างถิ่นได้เป็นจำนวนมาก แต่เจ้าของร้านที่ไม่กลัวกฎหมายก็กล้าเปิดกิจการขึ้นใหม่ และนำสัตว์หน้าตาแปลกๆ มาเสนอลูกค้าอยู่ไม่ขาด
เด ลีออน ยอมรับว่า รัฐบาลไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่มากพอที่จะปิดกั้นการลักลอบนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นผ่านท่าเรือกว่า 150 แห่งทั่วประเทศ
แม้โครงการขจัดสายพันธุ์ต่างถิ่นจะพอเป็นความหวังได้บ้าง แต่ เด ลีออน เตือนว่า ความสำเร็จย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้หากกรมทรัพยากรสัตว์ป่าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่
“มีคนบางกลุ่มที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย แต่เราต้องให้ความรู้กับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น, สมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ศาลด้วย”