เอเอฟพี - เกาหลีเหนือกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารขั้นรุนแรง จนประชาชนบางส่วนถึงกับต้องเข้าป่าเก็บผักหญ้ามากินประทังชีวิต กลุ่มนักสังคมสงเคราะห์สหรัฐฯเผยวานนี้ (23) หลังเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ
กลุ่มสังคมสงเคราะห์ทั้ง 5 เรียกร้องให้นานาชาติมอบความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ยากไร้ในเกาหลีเหนือ ซึ่งในทศวรรษที่ 1990 เกาหลีเหนือประสบภัยแล้งอย่างหนัก จนชาวบ้านอดอาหารเสียชีวิตนับแสนคน
“ทีมสำรวจพบหลักฐานที่บ่งบอกถึงภาวะทุพโภชนาการ, การขาดแคลนอาหาร และชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องออกไปหาพืชผักและสมุนไพรในป่ามารับประทานเพื่อให้มีชีวิตรอด” แถลงการณ์ร่วมของทั้ง 5 กลุ่ม ระบุ
“สิ่งเหล่านี้ยิ่งเห็นได้ชัดในครอบครัวที่พึ่งพาระบบแจกจ่ายอาหารของรัฐบาลเกาหลีเหนือ และที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือเด็ก, คนชรา, คนป่วยเรื้อรัง, หญิงตั้งครรภ์ และมารดาที่ให้นมบุตร”
กลุ่มสังคมสงเคราะห์ทั้ง 5 ประกอบด้วย คริสเตียน เฟรนด์ส ออฟ โคเรีย, โกลบอล รีซอร์ส เซอร์วิสส์, เมอร์ซี คอร์ปส์, แซเมริตันส์ เพิร์ส และ เวิลด์ วิชั่น ซึ่งล้วนเคยเข้าไปทำงานในเกาหลีเหนือมาแล้วทั้งสิ้น
พวกเขาระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญ 7 คนได้เดินทางเยือนเกาหลีเหนือเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ตามคำขอของรัฐบาลคอมมิวนิสต์
ทางการเกาหลีเหนือเปิดเผยว่า 50-80 เปอร์เซ็นต์ของธัญพืช เช่น ข้าวสาลี และ ข้าวบาร์เลย์ ซึ่งเพาะปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ได้ล้มตายลงเนื่องจากอากาศหนาวจัด กลุ่มทั้ง 5 ระบุ
“นอกจากนี้ ราคาอาหารโลกที่เพิ่งสูงขึ้นยังทำให้เกาหลีเหนือไม่สามารถนำเข้าอาหารได้เพียงพอสำหรับประชาชน”
รัฐบาลเกาหลีเหนือ ซึ่งเชิดชูปรัชญา “พึ่งพาตนเอง” เคยขับไล่กลุ่มสังคมสงเคราะห์ทั้ง 5 ออกจากประเทศ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2009 อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ จุงอัง อิลโบ ของเกาหลีใต้รายงานในเดือนนี้ว่า ฮาน ซาง รยอล รองทูตเกาหลีเหนือประจำองค์การสหประชาชาติ ได้ขอให้สหรัฐฯกลับมาให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนืออีกครั้ง และอนุญาตให้เข้ามาตรวจสอบการขนส่งอาหารด้วย
ฟิลิป ครอว์ลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯกำลังประเมินสถานการณ์ในเกาหลีเหนือ แต่ยังไม่พร้อมที่จะส่งความช่วยเหลือให้ในขณะนี้
“เรามีนโยบายมอบความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนืออยู่แล้ว แต่จะต้องประเมินความต้องการของประชาชน และตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่า อาหารจะถูกส่งถึงมือชาวบ้านที่เดือดร้อนที่สุดจริงๆ” ครอว์ลีย์ กล่าว
เกาหลีใต้เคยส่งข้าวจำนวน 400,000 ตัน และปุ๋ยอีก 300,000 ตันให้แก่เกาหลีเหนือทุกปี แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวหยุดชะงักลงในปี 2008 เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเริ่มถดถอยลง และประธานาธิบดี ลี เมียงบัค ซึ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ ก็พยายามยกเงื่อนไขลดอาวุธมาเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการมอบความช่วยเหลือให้เกาหลีเหนือ
ผลสำรวจความเห็นของผู้ลี้ภัยเกาหลีเหนือ 1,600 คน โดย 2 นักวิจัยสหรัฐฯ มาร์กัส โนแลนด์ และ สตีเฟน แฮกการ์ด พบว่า ชาวเกาหลีเหนือราวครึ่งหนึ่งไม่เคยทราบว่านานาชาติส่งอาหารเข้าไปช่วยเหลือพวกเขามานานแล้ว ส่วนผู้ที่พอจะทราบก็เชื่อว่า อาหารเหล่านั้นตกเป็นของกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐบาล แทนที่จะถึงมือชาวบ้านทั่วไป
อย่างไรก็ตาม มาร์กัส และ แฮกการ์ด ยังสนับสนุนให้มีการส่งอาหารเข้าไปช่วยชาวเกาหลีเหนือต่อไป เพราะเชื่อว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ควรถูกโยงเป็นประเด็นการเมือง