เอเอฟพี – พิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกหลายแห่งหันพึ่งอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์เครือข่ายสังคมดึงดูดความสนใจคนที่ชีวิตนี้ไม่เคยคิดเหยียบย่างเข้าชมนิทรรศการศิลปะ
เพียงคลิกเมาส์ แกลลอรี่ใหญ่ที่สุดของโลกบางแห่งอาจมาปรากฏตรงหน้าของคุณ
การเปิดตัวโครงการกูเกิล อาร์ต โดยใช้กล้องแบบเดียวกับที่ใช้ในไซต์สตรีท วิว เจาะภาพทะลุบานประตูพิพิธภัณฑ์ชื่อดังของโลก 17 แห่ง ซึ่งรวมถึง MoMA ในนิวยอร์ก และเนชันแนล แกลอรีในลอนดอน เป็นเพียงความเคลื่อนไหวล่าสุดเพื่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตในหมู่พิพิธภัณฑ์
สเตท เฮอร์มิเทจในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัม และเทต บริเทนในลอนดอน เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันที่คัดเลือกงานศิลป์โชว์บนเน็ตในรายละเอียดที่แทบไม่น่าเชื่อ
ต่อข้อถามว่าในเมื่อพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งมีเว็บไซต์ของตัวเองอยู่แล้ว แล้วทำไมจึงต้องไปจับมือกับกูเกิลอีก ลอรองต์ กาโว ผู้รับผิดชอบสื่อใหม่ของปราสาทแวร์ซายส์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แดนน้ำหอมเพียงแห่งเดียวที่เข้าร่วมโครงการของกูเกิล ตอบว่า “เราจำเป็นต้องดึงดูดผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผู้ใช้เครือข่ายสังคม ทุกที่ที่เป็นไปได้”
และเทคโนโลยีของกูเกิลช่วยได้
“การใช้กล้องที่มีความคมชัดสูงมากเป็นเรื่องแปลกใหม่จริงๆ” กาโวพูดถึงระบบที่ใช้ในในการจับภาพเขียนในพิพิธภัณฑ์
ด้วยการใช้ฟังก์ชันซูม ผู้ใช้จะสามารถดื่มด่ำกับความงดงามของภาพ ‘เดอะ ฮาร์เวสเตอร์ส’ ของจิตรกรเบลเยียมยุคเรอเนสซองซ์ ปิเอเตอร์ บรูเกล ในทุกรายละเอียด
อีกหนึ่งนวัตกรรมคือความง่ายดายในการเยี่ยมชมเสมือนทั่วทั้งพิพิธภัณฑ์ คุณสามารถเข้าไปดูภาพใกล้ๆ หรือเดินไปรอบๆ แกลลอรี่เสมือนหนึ่งเข้าไปอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ
ชาร์ลอตต์ เซ็กซ์ตัน จากเนชันแนล แกลอรีของอังกฤษ เสริมว่าพิพิธภัณฑ์ถูกโน้มน้าวให้เชื่อว่าไซต์กูเกิลสามารถจับกลุ่มเป้าหมายใหม่ หรือกระทั่งเชิญชวนคนเข้าสู่พิพิธภัณฑ์จริงๆ โดยที่ไม่ทำให้การจราจรเข้าสู่เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์แออัด
“มีหลักฐานมากมายชี้ชัดว่า การเข้าดูเนื้อหาที่เกี่ยวข้องออนไลน์สามารถผลักดันให้คนอยากมาเห็นของจริง เพราะคุณไม่สามารถประเมินค่าความตื่นเต้นจากผลงานต้นฉบับต่ำเกินไป
“และสำหรับหลายคนที่อาจไม่สามารถไปยังสถานที่จริงได้ คนเหล่านี้สามารถได้รับประสบการณ์เสมือนที่เหมือนจริงที่สุด”
ลาริสซา โคราเบลนิโควา โฆษกหญิงของเฮอร์มิเทจขานรับ
“ไม่มีความขัดแย้งระหว่างการเยี่ยมชมเสมือนกับการเข้าชมพิพิธภัณฑ์จริง แต่ทั้งสองส่วนต่างเสริมกันและกัน”
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งหลงใหลได้ปลื้มกับกูเกิล อาร์ต
ลูฟร์ในปารีส ศูนย์รวมวัฒนธรรมโลกขนานแท้และบ้านของ ‘โมนา ลิซา’ ของลีโอนาร์โด ดา วินชี เมินความก้าวหน้าของกูเกิลและเลือกสร้างเว็บไซต์ของตัวเองแทน ที่ปัจจุบันมีผู้เข้าชมปีละ 11 ล้านคน เทียบกับจำนวนผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จริง 8.5 ล้านคน
กระนั้น ปราสาทแวร์ซายส์ยืนยันว่าประโยชน์จากการเข้าสู่ออนไลน์ไม่สามารถประเมินค่าได้ โดยภายในเวลาเพียง 3 ปีหลังจากตัดสินใจอ้าแขนรับเฟซบุ๊ก, ยูทิวบ์ และทวิตเตอร์ ปรากฏว่ามีผู้ใช้ถูกนำมายังเว็บไซต์ของปราสาทเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนถึงปีละ 6 ล้านคนในขณะนี้